Sangtakieng.com
baanpan historical ๒๔๗๐
บ้านแพน ตลาดมีชีวิตบนวิถีคนลุ่มน้ำ
รวบรวม เรียบเรียง : รณรงค์ แสงตะเกียง ronnarong sangtakieng

บ้านแพนแต่ครั้ง พศ. ๒๔๗๐ มีผู้คนมาอยู่รวมกันมาก บ้างคนแต่เดิมและอีกกลุ่มเป็นผู้เข้ามาอยู่ใหม่ ด้วยทำเลที่นี่สามารถทำการประโยชน์ได้มาก ทำค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและสัญจรไปไหนมาไหนโดยสะดวก มีเรือเมล์โดยสารวิ่งขึ้นเหนือไปวิเศษไชยชาญ อินทร์บุรีถึงเมืองสรรคบุรี อีกทางผ่านประตูน้ำเจ้าเจ็ด-บางยี่หนไปเมืองสุพรรณบุรี ฝั่งขาล่องก็ไปเมืองอื่นใกล้ไกล เรือเอี้ยมจุ้นขนาดใหญ่จอดเทียบฝั่งเพื่อขายข้าวเปลือก ข้าวสาร ถ่านไม้ น้ำตาลแลของจิปาถะอื่น
พื้นน้ำริมฝั่งตลาดบ้านแพน เรือเมล์เขียว เรือเมล์แดง เรือสองชั้นของกิ้มฮ้อ เรือมิตรบ้านแพน ๑-๒-๓ แล่นรับส่งผู้โดยสาร ตลาดยามเช้าคลาคล่ำไปด้วยผู้คน เรือแม่ค้าสัญจรไปมาและเรือของพระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาต เป็นภาพอย่างปกติทุกวันของวิถีผู้คนที่นี่

          

หน้าตลาดอยู่ทางฝั่งริมน้ำ ในลำน้ำมีเรือมากลำหลากหลาย วิ่งกันทั้งวันทั้งคืน มีทั้งเรือเครื่องและเรือพาย เรือเครื่องดังเช่นเรือแดง เรือด่วน เรือเอี้ยมจุ้น เรือยนต์ เรือหางยาว เรือสองตอน ส่วนเรือพายที่นิยมใช้กันเป็นเรือสำปั้น เรืออีแปะหรือเรือเป็ด เรืออีจู๊ดหรือเรือเข็มและเรือบด บ้านแพนไม่มีทางบกเชื่อมต่อกับภายนอก บนฝั่งตลาดมีถนนดินแคบๆ กว้างพอให้รถสามล้อถีบวิ่งสวนกันได้ ถนนดินเดินเท้าเชื่อมโยงทอดสู่ชุมชนระยะทางสั้นๆ บ้าง เรือนแถวแบบเรือนไม้ถูกใช้เป็นร้านค้าของชำ ขายผ้า ตัดเสื้อผ้า ร้านขายยา ร้านตัดผม ฯลฯ ละแวกถัดจากไม่ไกลมีโรงสีไฟหลายแห่งรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ผืนนาราบลุ่มกว้างไปสุดตา ผลิตข้าวเลี้ยงผู้คนได้ทั่ว ส่งถึงเมืองไกล การทำนาถือเป็นอาชีพหลัก ปลูกข้าวไว้กินไว้ขาย สืบทอดวิถีเช่นนี้มาแต่ก่อน โรงสีไฟจึงทำการค้า ขายปลีกขายส่งกันทางเรือทั้งข้าวสารและข้าวเปลือก
พระนครแม้จะไกล แต่ผู้คนแถบลุ่มแม่น้ำน้อยรวมบ้านแพนเดินทางด้วยเรือด่วน โดยใช้เวลาเพียงสั้น -๓ ชั่วยาม เรือด่วนออกเย็นหรือค่ำ ครั้นค่อนสว่างก็ถึงท่าเตียนเสียแล้ว

แม่น้ำน้อย ลำคลองปลายนาและลำคลองสาขาที่เชื่อมโยงร่างแห ช่วยให้ผู้คนเดินทางโดยง่าย วิถีชีวิตจึงเลือกสัญจรทางน้ำเป็นหลัก เพราะสะดวกและประหยัดเวลากว่าเดินเท้าหรือใช้ล้อเกวียนเป็นมากเท่า ชาวลุ่มน้ำแถบที่ราบลุ่มภาคกลางจะคุ้นเคยกับทางเรืออย่างดี เรือนอาศัยของชาวชุมชนจะอยู่ตามริมน้ำ บางส่วนอาศัยบนแพโดยแพทำจากลำไม้ไผ่มามัดรวมกัน แล้วนำไม้กระดานมาปูทับเป็นพื้นบ้าน หลังคาทำจากสังกะสีหรือใบจาก ส่วนเรือนบนฝั่งน้ำ ใช้ไม้ปลูกสร้างเป็นสองชั้นเรียงติดกันเป็นแถวอยู่ริมแม่น้ำเรียกว่าเรือนแถว หรือในบางทีก็ปลูกยกใต้ถุนสูงหรือทรงไทย บ้านทรงไทยส่วนใหญ่จะมุงด้วยกระเบื้องเกล็ดปลา ที่นี่อยู่กันอย่างพี่น้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มักอยู่อย่างครอบครัวใหญ่
ตลาดค้าขายส่วนมากจะอยู่ในน้ำ ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันคึกคัก ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงนำพืชผักที่ปลูกเองมาขาย บริเวณประตูน้ำเจ้าเจ็ดมีเรือมารอผ่านประตูจำนวนมาก ในลำคลองจึงผสมรวม เต็มไปด้วยเรือของแม่ค้าจากต่างที่ด้วย อาหารการกินอาศัยปลาจากลำน้ำและท้องทุ่งโดยรอบ ปลาชุกชุมมาก ไม่มีน้ำมันพืชหรือน้ำมันปาล์มคงใช้ส่วนที่เหลื่อคือหัวปลามาเคี่ยวเป็นน้ำมันปลา สามารถในครัวเรือนได้แต่ข้อเสียคือจะเกิดกลิ่นเหม็นหืน การทำในแต่ละคราวจึงทำแต่น้อย

ชุมชนและพื้นถิ่นบ้านแพนส่วนมากทำนา ไถหว่าน เลี้ยงสัตว์หาปลา ทำนากันเป็นส่วนมาก ครั้งฤดูเก็บเกี่ยว ก็ไหว้วานพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยกันเกี่ยวข้าวเรียกว่าลงแขก

ร้านขายยามีอยู่ไม่กี่ร้านเช่นร้านเจ๊กซา เวลาป่วยไข้ จะไปซื้อยามากิน หากเป็นมากจะพาไปหาร้านหมอหลวงแถวตลาด หมอหลวงไปเรียนมาจากบางกอกและกลับมาเปิดร้านรับรักษาผู้ป่วย มีแต่ร้านหมอไม่มีโรงพยาบาล บางครั้งถึงกับส่งคนเจ็บด้วยเรือไปถึงเมืองอยุธยากันเลย
ตลาดและชุมชนใช้ตะเกียงในยามค่ำ บ้างใช้ไต้เป็นเชื้อเพลิง จุดไฟด้วยเหล็กไฟซึ่งประกอบด้วยแท่งเหล็ก หิน ก้านโสน นำแท่งเหล็กมาถูกับหิน จนเริ่มเกิดประกายไฟและใช้ก้านโสนมาต่อหรือใช้เทียน เทียนมีคนทำมาขาย ชาวบ้านก็รับซื้อไว้ ต่อมาชุมชนตลาดมีโรงปั่นไฟฟ้า เพื่อใช้ไฟฟ้าตามบ้านเรือน ทำกับข้าวจะใช้ถ่านและไม้ฟืน
การติดต่อสื่อสารสำหรับคนที่อยู่ไกลๆ จะใช้เรือ บ้านแพนถือว่าเป็นชุมชนที่สมัยมาก โทรเลขก็มีใช้กันด้วย ชาวบ้านรับฟังข่าวสารจากโทรทัศน์เครื่องเล็กๆ วิทยุตามหมู่บ้าน สำหรับเรือนที่มีฐานะจะมีโทรทัศน์ขาวดำหรือวิทยุทรานซิสเตอร์ยี่ห้อธานินทร์ใช้กัน ทั้งชุมชนมีไม่กี่เครื่อง วิทยุส่งคลื่นเอเอ็มช่วงฝนตกหนัก ไม่มีอันฟัง เสียงดังแทรกมากกว่าเสียงข่าวสารเสียอีก

        
         ขอขอบคุณอย่างสูง : ภาพจากไทยกูดวิว.ดอทคอม 

คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จะมีนับถือจีนและอิสลามเป็นบางส่วน คราวมีงานก็สนุกสนานอย่างมาก เป็นอะไรที่เรียบง่าย ครั้งถึงวันสำคัญๆ หนุ่มสาวจะไปเที่ยวกันตามงานวัด ผู้หญิงที่สมัยสักหน่อยจะแต่งตัวแบบบางกอก แต่ส่วนมากจะใส่ผ้าซิ่น สีทอต่างกันตามชอบ ลายตีนจิ้งจกนี่ก็ใส่กันมาก มีการละเล่นที่สนุกสนานไม่มีความรุนแรง งานวัดใหญ่ๆ จะไปเที่ยวกันตามวัดบางโคนม วัดเกาะ วัดหัวเวียง งานวัดจะมีลิเก ดนตรี ประกวดร้องเพลง การละเล่นต่างๆ รำวงอย่างสนุกสนาน

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
กลับเมนูหลัก เสาะหามาเล่า ค้นรื้อมาบอก : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานแห่งความรัก : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู เนเฟอติติ ราชินีแห่งไอยคุปต์-ราชินีผู้สาบสูญ : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู บันทึกวิถีคนกล้า บันทึกสืบ นาคะเสถียร : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู รู้จักดาบวิชัย รู้จักปรางค์กู่ : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ชาวบ้านบางระจัน ตำนานนักรบกล้าแห่งสยามประเทศ : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ตำนานรักนางนาก บางพระโขนง : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู บ้านถวาย หมู่บ้านหัตถกรรมแห่งล้านนา : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู สถาพร ศรีสัจจัง นักเขียนนักต่อสู้จากแดนใต้ : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู เอลวิส เพรสลีย์ ราชาแห่งร็อคแอนด์โรล : อ่านต่อคลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ปฏิบัติการ us navy seal นาทีสังหารผู้นำอัลเคด้า : อ่านต่อคลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ท่องไชยาทางโลก ท่องสวนโมกข์ทางธรรม : อ่านต่อคลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู พันตำรวจเอกสมเพียร เอกสมญา วีระบุรุษบันนังสตา : อ่านต่อคลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ราชินีแบดมินตันลูกชาวบ้าน รัชนก อินทนนท์ : อ่านต่อคลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู วัดพระบรมธาตุ ประวัติศาสตร์น่ารู้แห่งเมืองชัยนาท : อ่านต่อคลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู นครธม ศิลปเขมรแบบบายน สิ่งมหัศจรรย์ของโลก : อ่านต่อคลิ๊กตรงนี้

 

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 128 คน
 สถิติเมื่อวาน 104 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
1039 คน
53185 คน
935237 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong