Sangtakieng.com
เพลงลูกทุ่งไทย ฤาถึงยุคแห่งกาลล่มสลาย
ขอขอบคุณและรำลึกถึง มานพ ถนอมศรี
รวบรวม เรียบเรียงและนำเสนอ : รณรงค์ แสงตะเกียง
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง

ยุคสมัย ก่อนเพลงลูกทุ่งไทยจะถูกลืม

ถ้าจะถือว่าเพลงโอ้เจ้าสาวชาวไร่ที่ขับร้องโดยคำรณ สัมบุณณานนท์ และประพันธ์คำร้อง ทำนองโดยเหม เวชกร เป็นเพลงในแบบลูกทุ่งไทยเพลงแรก ปัจจุบันนี้เพลงลูกทุ่งไทยก็อายุครบ ๗๐ ปีเต็ม (เจนภพ จบกระบวนวรรณ, ลมหายใจพื้นบ้านในเพลงลูกทุ่ง, ดวลเพลงกลางทุ่ง สมาคมกิจวัฒนธรรมจัดพิมพ์ พศ.๒๕๓๒เพลงโอ้เจ้าสาวชาวไร่ แต่งเมื่อปี พศ. ๒๔๘๑)
 

 

 

เจ็ดสิบปีที่ผ่านมาของเพลงลูกทุ่งไทย อาจจะนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ผ่านยุคสมัยที่ผ่านร้อนผ่านเย็นมาแล้วอย่างครบถ้วน และหากไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป คงประจักษ์กันด้วยหูและสายตาแล้วว่า ถึงวันนี้ เพลงลูกทุ่งไทยอยู่ในสภาวะอย่างไรและกำลังเดินไปทางไหน
แม้จะมีคนที่มองเห็นคุณค่าและความงดงามของเพลงในแบบลูกทุ่งไทย ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจและทรัพย์ส่วนตัวเพื่อที่จะอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบต่อไป แต่ผลก็เพียงแค่ยืดวันเวลาสิ้นลมของเพลงประเภทนี้ให้รวยรินต่อไปเท่านั้นเอง

         
คำรณ สัมบุญณานนท์ ตำนานลูกทุ่งขบถ และวงจันทร์ ไพโรจน์ ถือว่าเป็นนักร้องยุคเริ่มต้นและยุคบุกเบิก ซึ่งได้บุกเบิกเพลงลูกทุ่งไทยร่วมกับนักร้องอีกหลายคน

เพลงลูกทุ่งไทยที่เต็มไปด้วยความไพเราะ งดงาม ทรงคุณค่าทั้งทางสุนทรียภาพและวัฒนธรรม กำลังถูกลืมจากผู้คนในยุคสมัยปัจจุบัน หลงลืมทั้งด้วยตัวของตัวเองและคลื่นวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรง โลกแห่งที่มีคำว่ากำไร ขาดทุนเป็นลมหายใจ เป็นพระพรหมองค์ใหม่ลิขิตชีวิตของผู้คนให้เป็นไปตามความต้องการของตัวเองอยู่ต่อเนื่อง และสิ่งที่มันสร้างขึ้นมาด้วยความมักง่าย ฉาบฉวย ไร้ความรับผิดชอบ หวังเพียงเพื่อความเป็นมหาเศรษฐี เหล่านี้นี่แหละที่เป็นส่วนอันสำคัญยิ่ง ที่ผลักดันให้เพลงลูกทุ่งไทย มีสภาพไม่แตกต่างไปกว่าป่าไม้และสัตว์ป่า ที่เราจะเห็นคุณค่ากันก็ต่อเมื่อ สิ่งนี้สูญหายไปแล้ว

เพลงลูกทุ่งไทย มิใช่เพียงเสียงตะโกนโหวกเหวก ด้วยวลีไร้ความหมายหรือสร้างสรรค์ในเชิงลบ ที่เพียงแค่เปิดซ้ำๆ ให้ผ่านหูทุกวัน ก็สามารถทำรายได้ในการจำหน่ายหลายแสนตลับ หากแต่เพลงลูกทุ่งมีความไพเราะในตัวของมันเอง ทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหา นอกจากนั้นยังสอดแทรกเอาไว้ด้วยเลือด เนื้อ ชีวิต ความเป็นอยู่ของคนไทย ที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการสูญเสียสิ่งนี้ไป จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง
บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นด้วยสำนึกว่า บัดนี้เพลงลูกทุ่งมรดกทางวัฒนธรรมไทยที่ยอดเยี่ยมมากอย่างหนึ่งได้สูญหายไปเสียแล้ว สูญหายไปเช่นเดียวกับของดีๆ อีกมากมาย ที่ต้องกลายเป็นอดีตอันพร่าเลือน รอวันดับสูญไปอย่างสิ้นเชิง สูญสลายไปเพราะคนไทยเองที่เมินหน้าหนีไปอย่างไม่มีเยื่อใย สูญสลายไปเพราะวิสัยที่คุ้นเคยกับการทำลายของเก่าแก่และดีงามอันเป็นสายเลือดของตนเอง

จะว่าไปแล้ว การกล่าวว่าคนไทยทั้งหมดเป็นผู้ทำลายเพลงลูกทุ่งไทยนั้นยังไม่ถูกต้องนัก เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ คนไทยจำนวนไม่น้อยเลยที่ตกอยู่ในสภาพ ยอมจำนนและรับรู้ในสิ่งที่ถูกยัดเยียด ยิ่งการสื่อสารมีความเจริญก้าวหน้ามากเท่าไหร่ การแพร่วัฒนธรรมต่างชาติหลายๆอย่างกระทำได้ง่ายเข้า ถ้าวัฒนธรรมไทยมีค่าเท่ากับ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้ค่าอันนั้นได้ถูกกลบกลืนและแทรกแซงจนเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คนรุ่นผู้ใหญ่ในปัจจุบันถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นคนที่มีวัฒนธรรมกินกาแฟไปโดยไม่รู้ตัว ในขณะเดียวกันกับคนรุ่นหนุ่มสาว ก็ถูกมอมเมาให้มีวัฒนธรรมกินไวน์และเบียร์โดยไม่มีความผิด ไม่เว้นแม้แต่เด็กและเยาวชน ซึ่งกำลังได้รับวัฒนธรรมกินน้ำอัดลมแทนน้ำสะอาดธรรมดาอยู่เช่นกัน
คนเพียงหยิบมือเดียว แต่มีพลังอำนาจอย่างล้นเหลือที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและความเป็นไปของชาติ ของประเทศทั้งประเทศได้ กำลังทำงานของตนอย่างมีความสุข โดยมิได้คำนึงเลยว่า สิ่งที่กระทำอยู่นั้น จะส่งผลให้แก่ของดีๆ ที่เคยมีมาแต่อดีตอย่างไรบ้าง ถ้าคนเหล่านี้ละเว้นในคำว่ากำไรให้ลดลงไปเสียบ้าง จากนั้นก็หันมาเลือกหยิบวัฒนธรรมอันดีงามของชาติที่ใช้เวลาสะสมต่อเนื่องกันมานานนับ ๑๐๐ ปี มาส่งเสริมละสร้างสรรค์ เฉกเช่นเดียวกับการเผยแพร่วัฒนธรรมใหม่ๆ ที่กำลังทำอยู่ คนไทยคงมีสิ่งที่ภาคภูมิใจและมีคุณค่ามากกว่านี้
ทางด้านเสียงเพลงก็เช่นดังเดียวกัน เพลงลูกทุ่งไทยที่แฝงไว้ด้วยความซื่อ บริสุทธิ์ ไพเราะและจริงใจ ก็คงไม่ขาดห้วนไปอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

 

๗๐ ปีเพลงลูกทุ่งไทย แบ่งออกเป็นสามยุค
ถ้าจะแบ่งกันอย่างหยาบๆ ไม่ได้อาศัยหลักวิชาการอะไรมากไปกว่า เคยได้ยินได้ฟัง และชื่นชอบกับบทเพลงประเภทนี้มานานแต่อายุเก้าขวบปี เพลงลูกทุ่งไทยของเรานี้คงสามารถแบ่งออกได้เป็นสามช่วงด้วยกัน
  • ยุคเริ่มต้นและบุกเบิก
  • ยุครุ่งเรืองและเฟื่องฟู
  • ยุคฟุบและสูญสลาย

(๑) ยุคเริ่มต้นและยุคบุกเบิก

คุณอเนก นาวิกมูลและคุณเจนภพ จบกระบวนวรรณ ซึ่งเป็นผู้สนใจ ค้นคว้า ศึกษาความเป็นมาและเป็นไปของเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองไทย มาเป็นเวลาหลายสิบปี ต่างมีความเห็นต้องกันว่าเพลงลูกทุ่งไทยนั้น แท้จริงแล้วมีพัฒนาการมาจากเพลงพื้นบ้านของไทยเรานั้นเอง (อเนก นาวิกมูล ทั้งเพลงลูกทุ่งและเพลงพื้นเมือง ข้อสังเกตในตอนนี้ก็คือ เพลงทั้งสองประเภทมีลักษณะร่วม และมีความใกล้ชิดผูกพันกันอย่างแน่นอน, เจนภพ จบกระบวนวรรณ ส่วนหนึ่งของเพลงลูกทุ่งไทยล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานมาจากเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองแทบทั้งนั้น)
คุณเจนภพเขียนไว้ว่า เพลงลูกทุ่งไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พศ. ๒๔๘๑

คุณอเนกเขียนเอาไว้ว่า คำว่าเพลงลูกทุ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พศ. ๒๕๐๗
นั่นหมายความว่า ตัวอย่างเพลงลูกทุ่งเกิดก่อนชื่อเพลงลูกทุ่งนานถึง ๒๖ ปี (ส่วนว่าก่อนหน้านั้น เพลงลูกทุ่งที่ร้องๆ กันอยู่จะถูกเรียกขานว่าอะไร รวมทั้ง ผู้ใดเป็นผู้ให้ชื่ออันเหมาะสม กับเพลงไทยประเภทนี้ ต้องไปหาอ่านเอาจากหนังสือ ดวลเพลงกลางทุ่ง ซึ่งสมาคมกิจวัฒนธรรมเป็นผู้จัดพิมพ์ขึ้น เมื่อปี ๒๕๓๒ หนังสือเล่มนี้ คุณอเนก นาวิกมูล คุณเจนภพ จบกระบวนวรรณ คุณสุกรี เจริญสุข คุณนพีสี นิมมานเหมินทร์ และนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ช่วยกันเขียน)
ช่วงเวลา ๒๖ ปีนี่แหละที่เราถือได้ว่าเป็นยุคบุกเบิกและฟักตัวของเพลงลูกทุ่งไทย ซึ่งคนรุ่นปัจจุบันนี้ คงเหลือน้อยคนนักที่เคยได้ยินได้ฟังเสียงแท้ๆ จากปากนักร้องที่ร้องไว้เป็นครั้งแรกๆ

         
         
 
จากซ้ายไปขวาแถวบน : ปอง ปรีดา-ชัยชนะ บุญญโชติ-ไพรวัลย์ ลูกเพชร-พร ภิรมย์
  แถวล่าง : ชาย เมืองสิงห์-สุรพล สมบัติเจริญ-ผ่องศรี วรนุช-ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
 

จากการค้นคว้าของนักเลงเพลงลูกทุ่งอย่างคุณเจนภพ จบกระบวนวรรณ ทำให้เราพอจะรู้ว่า นักร้องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อวงการเพลงลูกทุ่งไทยในแง่ผู้ริเริ่ม บุกเบิก นำเสนอผลงานเพลงอันทรงคุณค่าประเภทนี้ออกมาในยุคนั้นได้แก่ คำรณ สัมบุณณานนท์, ชาญ เย็นแข, ปรีชา บุญยเกียรติ, ศิริ คุ้มอยู่, สมยศ ทัศนพันธ์, วงจันทร์ ไพโรจน์ และใครๆอีกหลายคน
นักร้องในรุ่นนั้นหลายคนเสียชีวิตไปแล้ว หลายคนยังมีชีวิตอยู่ ส่วนเสียงเพลงคงหาฟังกันได้ยาก เพราะแผ่นเสียงชำรุด เสียหายไปเกือบหมด เท่าที่พอจะค้นฟังได้บ้างก็คงจะที่พิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่งของคุณเจนภพ จบกระบวนวรรณ

ยอมรับว่า เมื่อเริ่มหัดฟังเพลงแรกๆนั้น ยังไม่อาจเข้าในใจความไพเราะของเพลงซึ่งนักร้องอาวุโสเหล่านี้ร้องได้ ดูเหมือนจะมีเพียงกลิ่นโคลนสาบควาย หรืออะไรนี่แหละ (มีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า อย่าดูถูกชาวนาเหมือนดั่งตาสี…ทำนองนี้) ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าเพลงในยุคนั้นต้องมีอะไรดี ต้องเป็นเพลงที่มีคุณภาพล้นเหลือ มิเช่นนั้นคงไม่สามารถผลักดันให้เป็นเพลงลูกทุ่งไทยในระยะต่อมา กระทั่งได้รับความนิยมอย่างมากในระยะเวลาต่อมา
ถ้าจำไม่ผิด ช่วงที่มีแรงผลักดันสำคัญทำให้ เพลงลูกทุ่งรุ่งโรจน์ไปทั่วฟ้าเมืองไทย เริ่มต้นประมาณปี พศ. ๒๕๐๐ ซึ่งยังไม่เรียกขานเพลงในแบบที่พัฒนามาจากเพลงพื้นบ้านของไทยกันว่าเพลงลูกทุ่ง
นักร้องที่มีบทบาท ผลงานเพลงค่อนข้างมากและเป็นที่นิยมของผู้ฟังทั่วไปได้แก่ ทูล ทองใจ, ปอง ปรีดา, ชัยชนะ บุญนะโชติ,ไพรวัลย์ ลูกเพชร, พร ภิรมย์, ชาย เมืองสิงห์, สุรพล สมบัติเจริญ ฯลฯ

       
ซ้าย-ทูล ทองใจ ลอยลมเสียงเพลงย่ำร่ง, ขวา-ปอง ปรีดา ออดอ้อนเพลงริมโขง

ยุคนั้น เทคโนโลยีด้านเครื่องเสียงยังไม่เจริญไม่แพร่หลายเท่าใดนัก วิทยุส่วนใหญ่ เป็นทรานซิสเตอร์ใช้กระบะถ่านไฟฉาย ยังพบเห็นได้ยาก กระนั้นก็ตามทุกรุ่งอรุณของวันใหม่ จะได้ยินเสียงเพลงจากวิทยุของคนบ้านไกลลอยแว่วมากับลม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเพลงของ ทูล ทองใจ ดูเหมือนว่าจะเป็นเสียงเพลงที่ผสานกลมกลืนกับบรรยากาศตอนเช้าตรู่อย่างดี กระทั่งกลายเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ฟัง ที่เดียวว่าหากจะฟังเพลงของทูล ทองใจ ให้ไพเราะได้อารมณ์ควรฟังก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
ดูเหมือนว่า ความรู้สึกนี้จะยืนยาวสืบมาช้านานจนเกือบถึงปัจจุบัน เวลาเดินทางไปในชนบทบางแห่ง ยังเคยได้ยินเสียงเพลงของทูล ทองใจ ดังแว่วมาท่ามกลางความมืดสลัวของรุ่งอรุณแห่งท้องทุ่งนาอยู่เช่นเดิม
เพลงลูกทุ่งที่แปลกทั้งเนื้อร้อง ทำนอง ความรู้สึกและอารมณ์ของเพลงในช่วงเวลานั้นเห็นจะได้แก่เพลงสาวฝั่งโขง ที่ขับร้องโดย ปอง ปรีดา ส่วนที่ประทับใจที่สุด และนับได้ว่าเป็นสิ่งสูงสุดของเพลงลูกทุ่งไทยที่ยังไม่มีใครทำได้ทัดเทียมเลยก็คือเสียงผิวปากนำตอนขึ้นต้นบทเพลง เพลงนี้โด่งดังมาก เป็นที่นิยมของคนฟังอย่างสูง เพราะหยิบเอาคำแปลกๆ ที่ไม่เคยคุ้นหูของคนภาคอีสานมาใช้ในเพลงเป็นหลายคำ และคำเหล่านั้นก็ล้วนกินใจและให้ความรู้สึกแก่คนฟังทุกภาคได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนไม่มีความรู้ว่า ผู้ใดเป็นผู้เขียนคำร้องและแต่งทำนอง แต่ขอยกย่องเอาไว้ในที่นี้ว่าที่สุดหามีเพลงใดเสมอเหมือนได้อีกแล้ว

เพลงของปอง ปรีดา อีกเพลงหนึ่งที่ดังติดตามมาด้วยสำเนียงเหน่อและคำร้องซื่อ ๆ น่าเห็นใจ ซึ่งก็เป็นที่นิยมของคนฟังอย่างมากมายเช่นกัน คือเพลงตามหาน้องต้อย
ในเวลาต่อมา จึงมีเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงจากนักร้องผู้นี้ออกมาอีกหลายเพลง และทุกเพลงก็ไพเราะ ลึกซึ้ง น่าฟัง จนแม้คนรุ่นปัจจุบันนำเอามาร้องใหม่ก็ยังให้ความไพเราะอยู่เช่นเดิม จึงถือได้ว่าเพลงของ ปอง ปรีดา เป็นที่สุดในด้านเนื้อหาที่เกี่ยวกับคนไทย คนลาวและแม่น้ำโขง
น่าเสียดายว่าช่วงเวลาไม่นานนัก นักร้องผู้นี้ก็ต้องมีอันประสบปัญหาชีวิต ทำให้ต้องหยุดร้องเพลงไปเป็นเวลานาน หรืออาจจะเรียกได้ว่าหายไปจากวงการเลยทีเดียว ไม่เช่นนั้นเราคงได้ฟังเพลงที่มีความไพเราะ ล้ำลึก อันเกี่ยวกับแม่น้ำโขงกันอีกหลายต่อหลายเพลง

นักร้องที่เป็นกำลังสำคัญในอันที่จะผลักดันให้เพลงลูกทุ่งรุ่งเรืองเฟื่องฟู ในเวลาต่อมาก็คือ ชัยชนะ บุญยะโชติ
นักฟังเพลงในเวลานั้นต่างรู้จักชัยชนะในด้านเพลงแหล่และร้องเพลงที่ใช้สำเนียงสุพรรณบุรี เพลงดอกดินถวิลฟ้า เพลงล่องใต้ และเพลงแม่แตงร่มใบ ล้วนแต่เป็นที่ถูกอกถูกใจของนักฟังเพลงในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวของชัยชนะคือเป็นคนอารมณ์ขันการแสดงบนหน้าเวทีจึงมีมุขตลกและสนุกสนานให้ผู้คนได้ชื่นชมอีก จึงนับได้ว่านักร้องผู้นี้เป็นขุนพลทหารเอกของเพลงลูกทุ่งไทยคนหนึ่งซึ่งโด่งดังมาก่อนที่จะมีคำว่าเพลงลูกทุ่งเสียด้วยซ้ำ

นักร้องผู้ยิ่งใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่เริ่มต้นผลงานของตนเองด้วยคำร้องที่ว่าพี่คือไพรวัลย์ น้องจ๋าจำเสียงได้ไหม... เป็นเจ้าของเสียงเพลงรักหวานที่กรีดเข้าไปในหัวใจสาวๆ ให้สั่นสะท้านไปทั่วทั้งเมืองไทย มิหนำซ้ำรูปร่างหน้าตายังหล่อเหลาอีกต่างหาก ความนิยมจึงเทไปให้อย่างไม่รู้จบ ไพรวัลย์ ลูกเพชร มีผลงานออกมามากมาย แต่ละเพลงได้รับความชื่นชอบจากคนฟังจนนำไปร้องติดปาก คนหนุ่มที่กำลังมีความรัก แทบจะไม่มีใครไม่นำเอาเพลงของนักร้องผู้นี้ไปร้อง อย่างน้อยก็เป็นการบอกเป็นนัย ๆ ว่า เนื้อหาที่อยู่ในเพลงหวานเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของหัวใจ

แม้เวลาจะผ่านเลยนานนับ ๑๐ ปี ไพรวัลย์ก็หาได้เสื่อมถอยไปจากความนิยมของประชาชนไม่ จะเห็นได้จากการขับร้องเพลงนำในภาพยนตร์ มนต์รักลูกทุ่งซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด หรือแม้แต่ครั้งหลังๆ ก่อนที่ชีวิตจะประสบโชคร้าย ไอ้หนุ่มตังเก ก็ยังเป็นที่ฮือฮาของไอ้หนุ่มทั่วเมืองไทยเช่นเคย

ยุคทองของเพลงไทยลูกทุ่ง ซึ่งยังไม่ได้ชื่อว่าเพลงลูกทุ่งในสมัยนั้น น่าจะเป็นช่วงที่วงดนตรีจุฬารัตน์ ภายใต้การควบคุมวงของครูมงคล อมาตยกุล ซึ่งถือได้ว่ารวบรวมนักร้องที่มีชื่อเสียงและความสามารถเอาไว้มากมาย และส่วนที่ทำให้วงดนตรีของครูมงคล โด่งดังมากที่สุดก็คือการนำเอานิทานพื้นบ้านและวรรณคดีไทยหลายเรื่องมาผูกเป็นเพลงให้นักร้องเช่น พร ภิรมย์, ชาย เมืองสิงห์ ขับร้องในทำนองแหล่ได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง

เชื่อว่า มิตรรักนักฟังเพลงคงพออยู่ในความทรงจำและซาบซึ้ง เรื่องราวของวรรณคดีไทยหลายเรื่องจากเพลงเหล่านี้เช่น พระรถ-เมรี ตอนที่ชาย เมืองสิงห์ เอื้อนบอกความรู้สึกภายในว่านางยักษ์นั้นรวดร้าวเพียงใด ทำได้สุดยอดเป็นที่สุด ขนาดฟังแล้วน้ำตาจะไหล ใจจะขาด สงสารนางยักษ์เหลือเกิน
นิทานพื้นบ้านอย่างเพลงดาวลูกไก่ของพร ภิรมย์ ให้ทั้งความสนุก เพลิดเพลินและสอนใจอยู่ในตัว ผู้เขียนขอยกย่องให้นักร้องผู้นี้เป็นนักร้อง ที่ร้องเพลงแหล่ได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด เพลงแหล่ทุกเพลงที่นักร้องผู้นี้ร้องล้วนไพเราะ ให้คติธรรม และเลือดเนื้อของความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน
รวมทั้งสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า คนไทยรุ่น พศ.เกิด ๒๕๐๐ จำนวนไม่น้อยที่เรียนวิชาวรรณคดีไทยจากเพลงของพร ภิรมย์ทราบว่า ขุนพลเพลงแหล่ผู้นี้ ปัจจุบันบวชเป็นพระภิกษุอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งตลอดบั้นปลายชีวิต

ตอนที่ (๒) ยุครุ่งเรืองและเฟื่องฟู อ่านต่อ : เขียนต่อคราวหน้าครับผม

ตอนที่ (๓) ยุคฟุบและกำลังจะล่มสลาย อ่านต่อ : เขียนต่อคราวหน้าครับผม

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้

อ่านประวัตินักร้องลูกทุ่ง
สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่งผู้ไม่มีวันตาย : คลิ๊กตรงนี้
บุปผา สายชล ราชินีเพลงลูกทุ่งภาคตะวันออก : คลิ๊กตรงนี้
ชาตรี ศรีชล ขุนพลเพลงลูกทุ่งเลือดน้ำเค็ม : คลิ๊กตรงนี้
ระพิณ ภูไท สามล้อรับจ้างสู่จุดสูงสุดของชีวิตบนเส้นทางเพลงลูกทุ่ง : คลิ๊กตรงนี้
ศรคีรี ศรีประจวบ นักร้องเพลงหวานจากบางคณที : คลิ๊กตรงนี้
ชายธง ทรงพล ปูไก่ไข่หลงแบบฉบับคนรูปหล่อ (ไม่เสร็จ) : คลิ๊กตรงนี้

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 15 คน
 สถิติเมื่อวาน 127 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
556 คน
48577 คน
930629 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong