Sangtakieng.com

 

 

 
safety engineering of electric overhead travelling crane EOHT
วิศวกรรมความปลอดภัยงานเครนเหนือศีรษะ 
ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ยึดเกาะวัสดุและผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น ชนิดปั้นจั่นเหนือศีรษะ ปั้นจั่นขาสูงและปั้นจั่นอยู่กับที่
 

ตอนที่หนึ่ง ประเภทและฟังก์ชั่นการทำงานของเครนเหนือศีรษะ : นำเสนอในลำดับนี้ 
ตอนที่สอง ความปลอดภัยงานขนย้ายหนักด้วยเครนและการกำกับดูแลงานเครน ในสถานประกอบกิจการ : อยู่ระหว่างการดำเนินงานพัฒนา
 

งานเขียน เรียบเรียงและนำเสนอ : รณรงค์ แสงตะเกียง

บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA)
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง
e-mail : sangtakieng@gmail.com  mobile 093 7719222


ตอนที่หนึ่ง  ประเภทและฟังก์ชั่นการทำงานของเครนเหนือศีรษะ   

ประเภทของเครนเหนือศีรษะ

เครนภาษาไทยเรียกว่าปั้นจั่น หมายถึงเครื่องจักรกลที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่งและเคลื่อนย้ายสิ่งของเหล่านั้นในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ มาตรฐานสากลแบ่งเครนออกเป็น ๒ ชนิดคือ เครนอยู่กับที่และเครนเคลื่อนที่ (stationary cranes and mobile cranes) ขอบเขตของเอกสารฉบับนี้ จะกล่าวถึงเครนอยู่กับที่ ชนิดเหนือศีรษะที่ใช้ต้นกำลังขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น (electric overhead travelling crane) จะไม่กล่าวถึงเครนหอสูงที่ใช้ในงานก่อสร้าง เครนเหนือศีรษะที่ใช้ต้นกำลังขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า แบ่งออกเป็นชนิดย่อยๆ ดังนี้

 

แบบที่หนึ่ง ๑ : เครนติดผนัง jib crane or wall crane เครนชนิดนี้ส่วนมากจะติดตั้งไว้ชิดผนังหรือชิดเสาโรงเรือน ในภาษาไทยจึงเรียกว่าเครนติดผนัง แขนของเครน (crane boom) ติดตั้งรอกโซ่หรือรอกไฟฟ้าสำหรับยกของขึ้นลง สามารถสวิงใช้งานได้ประมาณครึ่งวงกลมหรือมากน้อยกว่านั้น ตามลักษณะการออกแบบ   

 

 

 
โดยขั้นพื้นฐานบูมของเครน จะสวิงเคลื่อนที่ทำงานได้ครึ่งวงกลม รอกโซ่หรือรอกไฟฟ้า (chain block or electric hoist) ถูกติดตั้งไว้ที่บูมเพื่อยกของขึ้นลง รอกที่กล่าวถึงนี้สามารถติดตั้งได้หลายแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน   
 
  • ติดตั้งรอกโซ่เฉพาะที่แบบตายตัว ไม่มีชุดล้อเลื่อน (trolley machinery) ตามแนวบูม ชุดรอกยกของจึงเคลื่อนที่ตามแนวบูมไม่ได้ จิ๊บเครนมีวัตถุประสงค์ใช้งานแค่ยกของขึ้นลงเพียงจุดเดียว จึงต้องมีเครื่องมือหรือเครื่องจักรอื่นทำงานร่วมด้วย เช่น pallet truck สายพานลำเลียง โฟร์ค-ลิฟท์ ฯลฯ เป็นต้น
  • ติดตั้งรอกโซ่ร่วมกับชุดล้อเลื่อน (hoist trolley) ซึ่งชุดล้อจะสามารถลากให้เคลื่อนที่ตามแนวบูมได้ เครนจึงทำงานได้สี่ทิศทางคือ ขึ้น-ลง และเคลื่อนที่เข้าออกตามแนวบูม ข้อจำกัดคือต้องใช้กำลังคน
  • ติดตั้งรอกไฟฟ้าร่วมกับชุดล้อเลื่อนไฟฟ้า (electric hoist and trolley) ทำให้เครนทำงานได้สี่ทิศทางคือ ขึ้น-ลง และเคลื่อนที่เข้าออกตามแนวบูม 
 
 

 

 

แบบที่สอง ๒ : เครนรางเดี่ยว monorail crane รางของเครนถูกติดตั้งอยู่กับที่ มีทั้งรางตรงและรางโค้ง หลักการทำงานคล้ายกับจิ๊บเครน หากเป็นชนิดติดตั้งรอกไฟฟ้าร่วมกับชุดล้อเลื่อนไฟฟ้า (electric hoist and trolley) เครนจะทำงานได้สี่ทิศทางคือ ขึ้น-ลง และเคลื่อนที่หน้าหลังตามแนวราง กรณีเป็นรางโค้งจะต้องกำหนดองศาโค้งเพื่อให้ชุดล้อ (electric trolley) เคลื่อนที่ได้โดยสะดวก   
 
 
แบบที่สาม ๓ : เครนรางเลื่อนไฟฟ้าเหนือศีรษะ overhead crane โดยทั่วไปของเครนชนิดนี้ จะออกแบบให้ขนย้ายชิ้นงานได้หกทิศทางคือ ซ้ายขวา หน้าหลัง ขึ้นและลง   
การศึกษาเรียนรู้เครนเหนือศีรษะชนิดอยู่กับที่  จะใช้เครนโมเดลนี้เป็นต้นแบบ หมายความว่าหากเข้าใจระบบและการทำงานของเครนโมเดลนี้ ก็จะมีความรู้เรื่องเครนชนิดอื่นๆ ได้ด้วย  
 

 

 

  • รางเครน (หมายเลข ๑ crane runway) รางวิ่งของเครนเหนือศีรษะหรือ runway of overhead crane จะติดตั้งไว้บนโครงสร้างที่แข็งแรง ได้ระดับน้ำอยู่สูงขึ้นจากพื้น มากน้อยขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ใช้งาน รางเป็นเหล็กไอ-บีม หรือเป็นบีมรางรถไฟก็ได้ บีมรางรถไฟปีกบนจะโค้งมน ส่วนปีกด้านล่างจะแผ่และกว้างกว่าด้านบน รางวิ่งนี้จะรองรับการทำงานของเครนสองทิศทางคือเดินหน้าและถอยหลัง
  • สะพานเครน (หมายเลข ๒ main girder or bridge girder) มีทั้งแบบสะพานคู่และสะพานเดี่ยว เครนขนาดพิกัดยกไม่เกิน ๑๕ ตัน มักเป็นสะพานเดี่ยว หากพิกัดยกมากกว่านี้ก็มีทั้งสะพานเดี่ยวและคู่
 

หน้าที่คือรับโหลดทั้งหมดและถ่ายเทโหลดลงบนรางเครนตามทฤษฎีของคาน (lever theory)

    • โหลดจากอุปกรณ์ของเครนเอง dead load
    • โหลดที่เกิดจากน้ำหนักบรรทุก live load
    • โหลดจากสภาพแวดล้อมการทำงาน environmental load   
  • บีมหัวท้ายและชุดล้อ (หมายเลข ๓ end truck or end carriage) ติดตั้งติดอยู่ใต้สะพานเครน มีชุดล้อประกอบร่วมด้านละสองชุด
 
 

 

 

 

  • ต้นกำลังขับเคลื่อนเครนตามแนวราง (หมายเลข ๔ bridge drive or long travel machines) เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานร่วมกับชุดเฟืองทด เป็นเฟืองทดแบบทดรอบใช้งานลงหรือ reduce speed gear หมายความว่าความเร็วรอบเพลาใช้งานต่ำกว่ารอบทำงานของเพลามอเตอร์ขับ เฟืองทดลักษณะนี้ให้แรงบิดสูง กำลังขับมาก
 

 

 

บันทึกเพิ่มเติม มอเตอร์ต้นกำลังของเครนจะเป็นสามเฟส ๓๘๐ โวลท์ ส่วนมากหมุนที่ความเร็ว ๑๔๕๐ รอบต่อนาที (round per minute) ชุดเฟืองทดจะเป็นแบบทดรอบลง reduce speed gear

 

 

  • ฮอยท์และทรอลเลย์ (หมายเลข ๕ trolley and hoisting machinery) เครื่องจักรชุดนี้จะมีทรอลเลย์ประกอบร่วมอยู่กับฮอยท์ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายจะอธิบายทีละส่วน

ฮอยท์ hoisting machine คือหน่วยเครื่องจักรที่เป็นลักษณะกระบอกกลวง ภาษาไทยเรียกว่ากว้านส่วนภาษาอังกฤษเรียก drum ซึ่งกว้านจะพันม้วนเก็บสลิงหรือม้วนพันเก็บโซ่ไว้โดยรอบ ทั้งนี้ที่ส่วนปลายด้านล่างจะมีชุดลูกรอกและตะขอยกติดตั้งไว้ (hook block) เมื่อกว้านม้วนเก็บสลิง ชุดตะขอก็จะถูกยกขึ้นและในทางตรงกันข้าม เมื่อกว้านคลี่คลายไปอีกทิศทาง ตะขอก็จะถูกปล่อยหย่อนลง

 

การขับเคลื่อนกว้านให้หมุนม้วนตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกาก็ใช้เครื่องจักรเหมือนกับการขับเคลื่อนล้อของเครน คือใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ๓ เฟส ๓๘๐ โวลท์ ทำงานร่วมกับชุดเฟืองทด โดยต่อเพลาไปขับกว้านให้ม้วนเก็บหรือคลายสลิง จากการทำงานของฮอยท์ดังที่กำลังกล่าวถึงนี้ ทำให้เครนเคลื่อนที่เพิ่มได้อีกสองทิศทางคือตามแนวดิ่งขึ้นลง อุปกรณ์ส่วนควบที่สำคัญของฮอยท์ซึ่งจะอธิบายเพิ่มเติมในลำดับนี้คือ rope guide, hoist break, top limit switch และ lower limit switch   

 
    • rope guide กลไกจัดเรียงสลิงบนกว้าน
    • hoist brake เบรกกว้าน
    • top limit switch และ lower limit switch สวิทซ์ควบคุมช่วงยกของตะขอ
    • load limit switch ลิมิทสวิทซ์ควบคุมการยกโหลดเกิน
 

 

 

rope guide กลไกจัดเรียงสลิงบนกว้าน-ขณะกว้าน rope dump ม้วนเก็บและคลาย สลิงจะมีอุปกรณ์จัดเรียง rope guide เป็นกลไกบังคับ ไม่ให้สลิงม้วนทับไขว่กันไปมา การม้วนทับของสลิงที่กำลังกล่าวถึงนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สลิงเสียหายในลักษณะไส้แตก

hoist brake เบรกกว้าน-เบรกกว้านจะทำงานเมื่อไม่มีสัญญาณบังคับให้ฮอยท์ยกตะขอขึ้นลง หมายถึงชุดมอเตอร์ต้นกำลังจะทำงาน เบรกไม่ให้กว้าน rope drum หมุนเคลื่อนที่ทั้งแนวตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกา ตะขอยกจะถูกคงระดับและเมื่อมีสัญญาณบังคับให้ฮอยท์ยกตะขอขึ้นลง กลไกของเบรกจะถูกควบคุมให้เบรกถ่างออก กว้าน rope drum จะเก็บหรือคลายสลิงได้ ตะขอยกเคลื่อนที่ขึ้นลงได้ 

 

 

 

top limit switch & lower limit switch-ฮอยท์จะมีลิมิทสวิทซ์ควบคุม ๒ ระดับ ลิมิทสวิทซ์ตัวล่าง (lower limit switch) จะถูกปรับตั้งให้ตะขอยกหยุดก่อนแตะพื้น ซึ่งโดยทั่วไปจะปรับตั้งที่ระยะ ๓๐-๕๐ เซนติเมตรจากพื้นล่าง ส่วนลิมิทสวิทซ์ตัวบน (top limit switch) จะปรับตั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ตะขอยกกระแทกกับกว้าน ซึ่งโดยทั่วไปจะปรับตั้งต่ำกว่ากว้านที่ระยะ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร

 

load limit switch ลิมิทสวิทซ์ควบคุมการยกโหลดเกิน-จะถูกปรับตามความสามารถในการยกของเครน หากโหลดเกินฯ ระบบจะควบคุมให้ฮอยท์หยุดการทำงาน ยกของยึดเกาะไว้ที่ตะขอไม่ได้ 

 

ทรอลเลย์ trolley machinery เป็นเครื่องจักรที่ประกอบร่วมอยู่กับชุดกว้าน (hoisting machine) หน้าที่คือพากว้านเคลื่อนที่ขวางซ้ายขวาไปตามแนวสะพานเครน ดังนั้นทำให้ฮอยท์และทรอลเลย์ทำงานได้สี่ทิศทางคือขึ้นลงและซ้ายขวา

จะเห็นได้ว่าหากเรามองในภาพรวม การทำงานของเครนซึ่งมีพื้นฐานการทำงานของชุด ฮอยท์ & ทรอลเลย์และการเคลื่อนที่ของล้อขับเคลื่อนที่บีมหัวท้าย เครนจะทำงานได้หกทิศทางคือ ซ้ายขวา หน้าหลังและขึ้นลง

 
  • ชุดรอกและตะขอยก (หมายเลข ๖ hook block) ระบบรอกของเครนมีทั้งแบบสองร่องและแบบหลายร่อง รอกซึ่งประกอบร่วมอยู่กับตะขอยกจะถูกแขวนไว้กับกว้านโดยสลิงหรือโซ่ การทดแรงของระบบรอกหลายร่องก็เป็นไปตามทฤษฎีของรอก หมายความว่าการผ่อนแรงจะมีค่าเท่ากับ น้ำหนักของที่ยกหารด้วยจำนวนร่องรอก
 

 

 
  • ระบบควบคุมเครน (หมายเลข ๗ crane controller) ระบบควบคุมเครนแบ่งออกเป็นสามแบบคือ แบบห้องควบคุม แบบรีโมทคอนโทรลและแบบสวิทซ์ควบคุม (cabin control, remote or radio control, pendent control) สถานประกอบกิจการเลือกใช้แบบใดนั้น เหตุผลหลักจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมการใช้กับกระบวนการทำงานนั้นๆ

 

แบบที่สี่ ๔ : เครนแบบขาสูง gantry crane ระบบการทำงานจะเหมือนกับเครนรางเลื่อนไฟฟ้าเหนือศีรษะ แตกต่างเฉพาะระดับรางวิ่งหรือระดับพื้นวิ่งของล้อเครนเท่านั้น แบ่งย่อยออกเป็น ๒ แบบคือแบบล้อวิ่งระดับพื้นและแบบล้อวิ่งระดับพื้นหนึ่งข้างและติดรางตั้งบนโครงสร้างอีกหนึ่งข้าง 
 

 
  • แบบล้อวิ่งระดับพื้น (gentry crane) สะพานเครนแบบนี้จะยกสะพานเครนเป็นขาสูงขึ้นไป ล้ออาจเป็นโลหะหรือเป็นล้อยางก็ได้ หากเป็นโลหะจะออกแบบให้วิ่งตรงๆ เดินหน้าและถอยหลังไปมาบนราง ส่วนล้อแบบยางก็จะวิ่งบนพื้นราบบดอัดและสามารถบังคับเลี้ยวไปตามพื้นได้   

แกนทรีเครนแบบนี้อาจมีรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามลักษณะใช้งาน ตัวอย่างเช่นเครนยกชิ้นงานทั่วไป เครนท่าเรือน้ำลึก สำหรับเครนท่าเรือฯ สะพานเครนแต่ละข้างจะมี ๒ ท่อน ท่อนด้านหน้าจะมีกลไกให้ยกตั้งตามแนวดิ่งหรือบังคับให้อยู่ในระนาบก็ได้ 

 

 

 
  • แบบล้อโลหะรางวิ่งระดับพื้นหนึ่งข้างและติดตั้งบนโครงสร้างอาคารอีกหนึ่งข้าง ภาษาจำเพาะจะเรียกว่า semi-gentry crane ข้อจำกัดคือต้องติดตั้งแนวขนานโรงเรือนเท่านั้น ข้อดีคือลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากมีขาเครนเพียงข้างเดียว ไม่ต้องมีรางวิ่งระดับพื้น

 

ระบบความปลอดภัย อุปกรณ์ความปลอดภัย

 
อุปกรณ์ความปลอดภัยของเครนเหนือศีรษะแต่ละแบบ แต่ละรุ่นและแต่ละขนาด (crane capacity) ก็จะแตกต่างกันออกไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานและตามความต้องการของสภาพใช้งาน อุปกรณ์ความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเครนและผู้บังคับเครนต้องทราบมีดังต่อไปนี้
  • ระบบบังคับหยุดปลายรางเครนด้านหน้าและด้านหลัง (limit switch and mechanical stopper) ออฟชั่นสูงสุดจะมี ๓ ระดับคือ
    • ลิมิทสวิทซ์ชะลอความเร็วและจำกัดความเร็ว (slow-down limit switch) เมื่อเครนถูกบังคับให้เคลื่อนที่ตามแนวราง เดินหน้าหรือถอยหลังเกือบถึงปลายราง ลิมิท-สวิทซ์นี้จะส่งสัญญาณควบคุมให้ความเร็วลดลงและคงความเร็วที่ระดับต่ำกว่าความเร็วใช้งาน
    • ลิมิทสวิทซ์หยุดเครนตามแนวราง (stop limit switch) เมื่อเครนเคลื่อนที่ถึงลิมิท-สวิทซ์ตำแหน่งนี้ เครนจะหยุดทำงานไม่สามารถบังคับเครนให้เคลื่อนที่ไปสุดปลายรางไม่ได้
    • แมคคานิกสต๊อปเปอร์ปลายราง (mechanical stopper) เป็นหมอนแมคคานิกตัวสุดท้ายซึ่งติดตั้งไว้ที่ส่วนปลายรางเครนทั้งด้านเดินหน้าและปลายรางด้านถอยหลัง กรณีที่ลิมิทสวิทซ์ซึ่งควบคุมความเร็วการเคลื่อนที่ของเครนขัดข้อง เครนก็จะมากระแทกกับหมอนแมคคานิกปลายรางนี้ ดังนั้นที่อุปกรณ์นี้จะมีลูกยางกันชน (rubber bumper) ประกอบร่วมอยู่ด้วย
 
  • .ระบบบังคับหยุดทรอลเลย์ ก่อนเคลื่อนที่สุดปลายสะพานเครน (limit switch and mechanical stopper) ออฟชั่นสูงสุดจะมี ๓ ระดับเช่นเดียวกับการทำงานของระบบบังคับหยุดปลายรางเครนด้านหน้าและด้านหลัง
  • ระบบบังคับหยุดฮอยท์ที่ระดับสูงสุด ต่ำสุด (lower and upper limit switch) และโหลดลิมิทสวิทซ์  (hoist load limit switch) ได้อธิบายไว้โดยละเอียดแล้วในหัวข้อระบบฮอยท์เครน ลำดับนี้จึงไม่นำมากล่าวถึงอีก-เพื่อป้องกันการกระแทกชนในงานเครน จะเห็นได้ว่า ๖ ทิศทางที่เครนเคลื่อนที่ทำงานคือซ้ายขวา หน้าหลัง ขึ้นลง จะมีระบบควบคุมการหยุดครอบคลุมทั้งหมด 
  • .สัญญาณเตือนทำงาน (working alarm) เมื่อเครนเคลื่อนที่ตามแนวราบ ๔ ทิศทางต้องมีทั้งสัญญาณแสงและสัญญาณเสียง สัญญาณที่กล่าวถึงนี้เป็นมาตรฐานเครนและกฎหมายประเทศด้วย หมายความว่าหากไม่มีก็จะไม่เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดและฝ่าฝืนกฎหมายประเทศด้วย
  • สัญญาณตัดวงจรหยุดฮอยท์เมื่อโหลดเกิน (load limit switch) เครนทุกตัวจะถูกปรับตั้งค่าสูงสุดในการยกโหลด เมื่อโหลดที่ยกเกินฯ โหลดลิมิทสวิทซ์จะส่งสัญญาณไปตัดวงจรการยกเพื่อหยุดการทำงานของฮอยท์ เครนจึงยกของขึ้นไม่ได้  
 

 

 
  • แผ่นกันสลิงตกจากตะขอยก (hook safety latch) เป็นแผ่นกระเดื่องถูกดันด้วยสปริงให้แนบชิดกับตะขอยก ป้องกันสลิงที่ใช้ยึดเกาะวัสดุหลุดออกจากปากตะขอ
  • การกำหนดแถบสีสะท้อนแสง แถบเหลืองสลับดำ บนอุปกรณ์ช่วยยกที่สร้างขึ้นคามความเหมาะสมใช้งาน เช่นบีมรูปตัวซีสำหรับยกเหล็กม้วน (c-hook), ขาหนีบยกเหล็กม้วน (coil tong), ถังหูหิ้วยกด้วยเครน (workbox) บีมตรงหรืออุปกรณ์ช่วยยกรูปทรงอื่นๆ
 

ที่กล่าวถึงตัวอย่าง ๑-๗ เป็นระบบความปลอดภัยและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยส่วนหลักๆ ของเครนเท่านั้น ต้องไม่ลืมว่าเครน อุปกรณ์ส่วนควบและอุปกรณ์ช่วยยกที่ใช้กับงานเครนมีหลากหลาย ฉะนั้นอาจต้องศึกษาเพิ่มเติมจากคู่มือประจำเครื่องด้วย จะอย่างไรก็ตาม หากเข้าใจสิ่งที่กล่าวถึงนี้ได้ ก็จะเป็นพื้นฐานมากพอที่จะทำความเข้าใจเงื่อนไขอื่นๆ ได้  

 

 

 

ระบบควบคุมเครน crane controller
 
ระบบควบคุมเครนมี ๓ แบบ เหตุผลในการเลือกอาจมีหลายประการเช่น มีความน่าเชื่อถือสูงไม่ขัดข้องบ่อย ราคาถูก ค่าดูแลรักษาซ่อมบำรุงต่ำ ฯลฯ เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือความเหมาะสมกับกระบวนการทำงาน
  • ระบบห้องควบคุม cabin control เหมาะสมกับงานขนย้ายที่สภาพพื้นโรงงานไม่สะดวกที่จะเดินไปมา กิจกรรมขนย้ายด้วยจักรกลขนถ่ายหลากหลายหรือมีชั่วโมงการทำงานของเครนต่อวันสูง ทั้งนี้อันเนื่องมาจากผู้บังคับเครนนั่งทำงานอยู่บนห้องควบคุม ไม่ต้องพบกับสภาพแวดล้อมการทำงานโดยตรง ข้อดีของการทำงานบนห้องควบคุม ตัวอย่างเช่น
 
    • ห้องควบคุมเป็นพื้นที่ปิด มีระบบปรับอากาศ ผู้บังคับเครนไม่ต้องสัมผัสกับภาวะอากาศร้อน หนาว ฝุ่นควัน ฯลฯ โดยตรง
    • ลดโอกาส ลดอุบัติเหตุจากจักรกลขนถ่าย ซึ่งทำงานในพื้นที่กระแทกชน
    • ลดโอกาส ลดอุบัติเหตุจากการเดินสะดุด ลื่นล้ม
    • ผู้บังคับเครนไม่ต้องเดินไปมา การทำงานเมื่อเทียบกับระบบบังคับเครนแบบอื่นๆ จะเหนื่อยเมื่อยล้าน้อยกว่า
    • สามารถป้อนข้อมูลการนำสินค้าเข้าออกจากระบบคงคลังได้เลย ฯลฯ เป็นต้น
 
  • ระบบสวิทซ์ควบคุม pendant control ต่อวงจรควบคุมจากอุปกรณ์ควบคุมโดยตรงกับวงจรทำงาน เช่นเดียวกับระบบห้องควบคุม แตกต่างตรงที่จะต่อสายยาวห้อยลงมาด้านล่างเพื่อให้ผู้บังคับ เดินบังคับไปมาบนพื้นล่าง ข้อด้อยอาจจะอยู่ที่ผู้บังคับต้องเดินตามเครนในระยะจำกัดอยู่ตลอดเวลา จุดเด่นและความเหมาะสมใช้งาน สรุปดังนี้
 
    • เหมาะกับใช้งานในพื้นที่ไม่กว้างนัก จัดวางของเป็นระเบียบและพื้นสะอาด
    • ผู้ใช้เครนสามารถสลับกับทำงานอื่นๆ ได้สะดวก
    • อุปกรณ์ทนทาน ใช้งานยาวนานไม่ขัดข้องบ่อย (long service reliability)
    • ซ่อมบำรุงง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ
    • ไม่ต้องมีแบตเตอรีและแท่นชาร์ทสำหรับประจุไฟแบตเตอรี 
 
  • ระบบรีโมทควบคุม remote control เป็นระบบควบคุมโดยใช้สัญญาณวิทยุ (radio control) หมายความว่าอุปกรณ์ควบคุมจะส่งสัญญาณไปยังภาครับซึ่งติดตั้งอยู่บนตัวเครนและส่งข้อมูลเข้าหน่วยประมวลผลและแปลงสัญญาณให้เครนที่งานทิศทางต่างๆ ตามที่ต้องการ อุปกรณ์ควบคุมจะถูกback-up power โดยแบตเตอรี ฉะนั้นต้องมีแบต เตอรีสำรองและแท่นชาร์ทเพื่อพร้อมใช้งาน ข้อดี ข้อด้อยของอุปกรณ์แบบนี้คือ
 
    • ผู้ใช้เครนสามารถสลับกับทำงานอื่นๆ ได้สะดวก
    • ขณะบังคับเครน สามารถยืนใกล้ไกลยืดหยุ่นระยะทางได้มากกว่าแบบสวิทซ์ควบคุม ทั้งนี้เนื่องจากไม่ต้องมีสายสัญญาณต่อเชื่อมโดยตรงกับตัวเครน
    • อาจเป็นภาระ เนื่องจากขณะใช้งานต้องถืออุปกรณ์ไว้กับตัว
    • หากเทียบกับแบบอื่นมีโอกาสตกกระแทกพื้นได้มากกว่า
    • การซ่อมบำรุงเป็นลักษณะจำเพาะ ต้องทำโดยผู้ชำนาญการเฉพาะด้านเท่านั้น
    • ต้องมีแบตเตอรีสำรองและแท่นชาร์ท
 

การรักษาสภาพและความปลอดภัยเมื่อตรวจซ่อม
การรักษาสภาพ
 
หลังประจำการในสถานประกอบกิจการ เพื่อให้เครนเหนือศีรษะมีสภาพพร้อมใช้งาน ต้องมีการรักษาสภาพและตรวจทดสอบตามระยะเวลา โดยหลักการอาจพิจารณาแบ่งการทำงานของเครนออกเป็นระบบย่อยๆ เช่นชิ้นส่วนเคลื่อนที่ ชิ้นส่วนอยู่กับที่ ระบบไฟฟ้าและระบบควบคุมเครน ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ให้อ้างอิงตามคู่มือประจำเครื่อง ข้อกำหนดทางวิศวกรรมและกฎหมายแห่งราชอาณาจักรร่วมด้วย
 
  • ตรวจซ่อมเชิงป้องกันระยะ ๓ เดือนหรือตามคู่มือกำหนด
  • ตรวจซ่อมเชิงป้องกันเมื่อเครนทำงานครบ ๑๖๐๐ ชั่วโมงหรือตามคู่มือกำหนด
  • ตรวจทดสอบโดยวิศวกรและออกเอกสาร ปจ., ปจ.๒ ตามกฎหมายกำหนด
  • ปลดระวางชิ้นส่วนเคลื่อนที่ ตรวจซ่อมชิ้นส่วนอยู่กับที่เมื่อประจำการครบ ๑๕ ปี
  • ตรวจสภาพก่อนใช้งานประจำวันโดยผู้ใช้
 

เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญ เหตุผลหลักก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเครนมีสภาพพร้อมใช้งาน ทั้งนี้เป็นความมุ่งหวัง ที่จะลดองค์ประกอบจากสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุนั่นเอง   

 

อุปกรณ์ตัดแยกพลังงานเมื่อตรวจซ่อม รักษาสภาพเครน
 

หลักการทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัยและกฎหมายแห่งราชอาณาจักร เมื่อทำงานซ่อมสร้าง กู้สภาพหรือแปลงสภาพหรืออุปกรณ์ส่วนควบของเครนเหนือศีรษะ กำหนดให้ตัดแยกพลังงานและล็อคเอาท์ระบบก่อนเสมอ การตัดแยกระบบหรือตัดแยกพลังงาน แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะคือตัดแยกและล็อคเอาท์พลังงานไฟฟ้า ส่วนการตัดแยกลักษณะอื่นใดที่นอกเหนือจากระบบไฟฟ้าให้ถือว่าเป็นการตัดแยกและล็อคเอาท์ระบบเครื่องกลทั้งหมด จะอย่างไรก็ตามระบบหลักอาจเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า ณ ที่นี่จึงกล่าวถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นด้านหลัก

 
ระบบวงจรไฟฟ้าของเครนเหนือศีรษะมีหลักสี่วงจรคือ
 
  • วงจรควบคุมชุดต้นกำลังขับฮอยท์และระบบเบรกของฮอยท์
  • วงจรควบคุมชุดต้นกำลังขับเคลื่อนทรอลเลย์
  • วงจรควบคุมชุดต้นกำลังขับเคลื่อนเครนตามแนวยาว
  • วงจรไฟฟ้าอำนวยความสะดวก  
 
ระบบไฟฟ้าสามเฟส ๓๘๐ โวลท์จะเริ่มต้นโดยผ่าน main breaker จากเมนเบรกเกอร์ก็จะแยกจ่ายไปยังสามวงจรแรก ส่วนวงจรที่สี่เป็นวงจรอำนวยความสะดวก ขนาดกระแสไฟฟ้าและแรงดันจะเป็นระบบสองเฟส ๒๒๐ โวลท์ ตัวอย่างอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเช่น ไฟแสงสว่างบนตัวเครน เครื่องปรับอากาศห้องควบคุม คอมพิวเตอร์ที่สถานีห้องควบคุมและเพาเวอร์ปลั๊กต่าง ฯลฯ การตัดแยกพลังงานจึงมีแนวปฏิบัติสองลักษณะคือตรวจซ่อมรักษาสภาพอุปกรณ์ส่วนใดก็ตัดแยกเฉพาะส่วนนั้นและลักษณะที่สองคือออฟวงจรควบคุมย่อยทั้งหมด หลังจากนั้นจากออฟและล็อคเมนเบรกเกอร์

 
 

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังตอนที่สอง ความปลอดภัยงานขนย้ายหนักด้วยเครนและการกำกับดูแลงานเครน ในสถานประกอบกิจการ (อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา) คลิ๊กตรงนี้
 
  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 40 คน
 สถิติเมื่อวาน 267 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2372 คน
19362 คน
901414 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong