Sangtakieng.com

 
   
 

รอยรักข้างหลังภาพ ตามรอยศรีบูรพา (๑) : นำเสนอท่านในหน้านี้
รอยรักข้างหลังภาพ ตามรอยศรีบูรพา (๒) : คลิ๊กตรงนี้
 
ภาพจากภาพยนตร์ข้างหลังภาพ ขอขอบคุณอย่างสูงสุดไว้ ณ โอกาสนี้ และขอคารวะดวงวิญญาณแห่งครูกุหลาบ สายประดิษฐ์และครูเชิด ทรงศรี
 
รวบรวม เรียบเรียงและนำเสนอ : รณรงค์ แสงตะเกียง
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง 

๘ ธันวาคม ๒๔๗๙ นสพ.ประชาชาติรายวัน เริ่มลงพิมพ์นวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพาหรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ นับถึง ๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ "ข้างหลังภาพ" มีอายุ ๘๒ ปีเต็ม จำนวนครั้งการพิมพ์เท่าที่บ่งบอกเป็นหลักฐาน ๓๔ ครั้ง ส่วนที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศไม่นับ หนังสือเล่มนี้ไม่มีกาลเวลาไม่ล้าสมัย อ่านเมื่อไหร่ก็อ่านได้ เพราะให้ทั้งความบันเทิงและให้ปัญญากับผู้อ่านไปในตัว
 

จุดบันดาลใจให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ คิดและเขียนนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ เริ่มจากกุหลาบได้ทราบเรื่องของหญิงสูงศักดิ์ผู้มีความรู้ดี การบ้านการเรือนเก่ง ไม่ว่าจะเย็บปักถักร้อยหรือปรุงอาหาร เธออายุมากแล้วแต่ยังไม่ได้แต่งงาน ต้นแบบบุคลิกของหม่อมราชวงศ์กีรติ เอาบุคลิกของเจ้าพี่เจ้าน้อง ๒-๓ พระองค์ (ของพระนางเธอลักษมีลาวัณย์) มารวมกัน
 

 
เหตุการณ์ที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ต้องไปญี่ปุ่น กระทั่งได้สถานที่และฉากรัก-ข้างหลังภาพ
 
จากการที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ใช้ปากกาต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นอุดมการณ์ที่จะสร้างความเป็นประชาธิปไตยในสยามประเทศ เป็นผู้กล้าที่เขียนบทความ เรื่องสั้นและนวนิยายโจมตี-เจ้า-ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พศ. ๒๔๗๕ หนังสือพิมพ์ที่กุหลาบทำ-ถูกเจ้า ใช้อำนาจข่มเหงต้องปิดแล้วปิดอีกหลายฉบับ ตกยากและถูกคุกคาม แต่จะหนักหนาสาหัสอย่างไรกุหลาบ ก็ยังเป็นชายชาติเสือที่ไม่ยอมลบลายตัวเอง

กระทั่ง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ประเทศสยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบ เจ้าเป็นใหญ่มาเป็น ราษฎรเป็นใหญ่ แต่กุหลาบก็ต้องผิดหวังเมื่อความเป็นใหญ่ไม่ได้เป็นของราษฎร หากแต่ตกอยู่ในกำมือของนายทหารบางคน จึงใช้ปากกาต่อสู้อีก ตั้งแต่สมัยที่กุหลาบต่อสู้กับ-เจ้า-อาจมีเจ้าหลายพระองค์โกรธพยาบาท แต่เจ้าอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณกลับชื่นชม
 

       
 
           ซ้าย-สถานีรถไฟมิตาเก๊ะ ๒๔๗๙ : ขวา-สถานีรถไฟมิตาเก๊ะปัจจุบัน

 
หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันฉบับแรก วางตลาดวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๕ นี่เป็นหนังสือที่ มจ.วรรณไวทยากร วรวรรณซึ่งต่อมาดำรงพระอิสริยยศเป็นพลตรีพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นเจ้าของและกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้จัดทำ ท่านวรรณฯ เปิดเวทีให้กุหลาบใช้ปากกาสอนประชาธิปไตยแก่ประชาชน กุหลาบได้ทำงานตามอุดมการณ์อย่างเที่ยงตรง ติชมรัฐบาลโดยไม่มีอคติ กระทั่งถึงสมัยนายพันตรีแปลก พิบูลสงครามหรือหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี กุหลาบเห็นว่ารัฐบาลนี้ใช้อำนาจเผด็จการ ทำหลายสิ่งที่ไม่ชอบด้วยความเป็นประชาธิปไตย จึงใช้ปากกาต่อต้าน
 
สืบต่อมาเมื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ได้แต่งตั้ง มจ.วรรณฯ เป็นที่ปรึกษา มจ.วรรณ เป็นเจ้าภาพแต่งงานกุหลาบ สายประดิษฐ์กับชนิด ปริญชาญกุล (พศ.๒๔๗๗) ที่วังของหม่อมเจ้าฯ เอง และประทานที่ดิน ๒๘๐ ตารางวา ในซอยพระนางเป็นของขวัญแต่งงาน กุหลาบกับชนิดปลูกเรือนหอบนที่ดินแปลงนี้ จอมพล ป. ทราบดีว่าหนังสือประชาชาติเป็นของ มจ.วรรณและมีกุหลาบเป็นคนทำ จอมพลป. เคารพนับถือ มจ.วรรณมาก จึงหวังขอช่วยให้ห้ามปรามกุหลาบ ไม่ให้เขียนโจมตีรัฐบาล มจ.วรรณก็เพียงแต่เปรยให้เพลาๆ ลงบ้าง แต่ไม่เคยห้ามอย่างจริงๆ จังๆ ถึงกระนั้น หลวงพิบูลก็ได้ต้อนกุหลาบเข้ามุมอับ ทำให้อึดอัดใจมาก ในช่วงเวลานั้นหนังสือพิมพ์อาซาฮี ของญี่ปุ่นมีหนังสือเชิญครูไปดูงาน กุหลาบจึงฉวยโอกาสพักงานที่ประชาชาติเดินทางไปญี่ปุ่น เมื่อพฤษภาคม ๒๔๗๙
 

กุหลาบคุ้นเคยกับราชนิกุลในราชสกุล "วรวรรณ" หลายพระองค์ โดยเฉพาะกับ มจ.หัตถ์ชากรน้องชายของ มจ.วรรณ กุหลาบคุ้นเคยเป็นพิเศษ ช่วงเวลานั้น มจ.ฉันทนากรน้องชายอีกองค์หนึ่งของท่านวรรณพำนักอยู่ที่ญี่ปุ่น มีบ้านพักอยู่ที่ตำบลอาโอยามาชิฮัง มจ.วรรณทรงแนะนำให้กุหลาบไปพักอยู่กับ มจ.ฉันทนากรที่บ้านหลังนี้ บ้านหลังนี้จึงเป็นต้นแบบของบ้านเช่าที่ตำบลอาโอยามาชิฮัง ที่นพพรเช่าให้เจ้าคุณฯ กับคุณหญิงกีรติพักระหว่างไปฮันนิมูนที่ญี่ปุ่น
 

ส่วน-มิตาเกะ-ฉากสำคัญที่สุดของ ข้างหลังภาพ ที่ศรีบูรพาเขียนถึงในบทที่ ๘-๑๐ได้มาจากวันหนึ่งที่มิสเตอร์ฮานาโซโน แห่งหนังสือพิมพ์นิจินิจิ ซึ่งเป็นผู้บรรยายวิชาการหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวาเสดะและมหาวิทยาลัยเมจิได้พากุหลาบ เดินทางไกลไปเที่ยวพักผ่อน ณ ภูเขามิตาเกะ  ซึ่งกุหลาบประทับใจกับการไปเที่ยวมิตาเกะอย่างมาก จึงได้นำมาเขียนไว้ใน"ข้างหลังภาพ" ถึงสามบท และให้เหตุการณ์สำคัญที่เป็นหัวใจของเรื่อง เกิดขึ้นที่นั่น ภาพริมลำธารที่ซ่อนเร้นความหมายไว้ "ข้างหลังภาพ" ก็คือลำธารที่ภูเขามิตาเกะ
หลังจากศรีบูรพากลับมาจากญี่ปุ่นก็ไม่ได้กลับเข้าไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติอีก ศรีบูรพาได้เขียน "ข้างหลังภาพ" ที่บ้านส่งลงพิมพ์ในประชาชาติวันต่อวัน เริ่มฉบับแรก ๘ ธันวาคม ๒๔๗๙ ต่อเนื่องกันไปจนถึง ๒๖ มกราคม ๒๔๘๐ จบบทที่ ๑๒ เป็นเหตุการณ์ตอน มรว. กีรติกับนพพรลาจากกันที่ท่าเรือโกเบ แต่เดิมศรีบูรพาตั้งใจจะจบ "ข้างหลังภาพ" เพียงเท่าที่เขียนในประชาชาติ คือจบแค่ ๑๒ บท แต่โดยที่ผู้อ่านชอบเรื่องนี้มาก ประกอบกับ "สำนักงานนายเทพปรีชา" ที่กุหลาบกับเพื่อนร่วมกันตั้งขึ้นเห็นว่า น่าจะเอา"ข้างหลังภาพ" มาพิมพ์รวมเล่ม และเพื่อจะให้มีจุดขายดียิ่งขึ้น ศรีบูรพาจึงเขียนต่ออีก ๗ บท โดยถือว่าที่เขียนจบในประชาชาติเป็นภาคแรกหรือภาคต่างประเทศ  ส่วนที่เขียนใหม่เป็นภาคจบสมบูรณ์หรือภาคในประเทศ
 

ข้างหลังภาพ ที่อ่านกันอยู่มี ๑๙ บท ต่อมาประมาณปี ๒๔๘๖ สำนักพิมพ์อุดม จัดพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นของนักเขียนดังๆ ยุคนั้น ๑๒ เรื่อง ตั้งชื่อหนังสือว่า ผาสุก เป็นหนังสือเล่มเล็กขนาด-พ็อกเก็ตบุ๊คจากหน้า ๒๕๕ ถึง ๒๗๓ เป็นเรื่องเอกของศรีบูรพาชื่อ นพพร-กีรติ มีข้อความนำเรื่องอยู่ในวงเล็บที่พิมพ์ด้วยอักขรวิธีสมัยจอมพล ป.ว่า จดหมายสองฉบับที่ศรีบูรพาประพันธ์ขึ้นใหม่นี้  บทพิเศษของเรื่อง ข้างหลังภาพ อันขึ้นชื่อลือนาม จดหมายของนพพรและกีรติสองฉบับนี้ เพิ่งจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในหนังสือเล่มนี้ ท้ายเรื่อง มีล้อมกรอบโฆษณาว่า คอยอ่าน-ข้างหลังภาพ-เรื่องเอกของศรีบูรพา กำลังพิมพ์เป็นครั้งที่ ๓ กำหนดออกเร็วๆ นี้
 

อีก ๖๓ ปีต่อมา พศ. ๒๕๔๓ เชิด ทรงศรีจึงได้ถ่ายทอดความดื่มด่ำประทับใจ จากตัวหนังสือมาเป็นภาพโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ ย้อนเวลาเฟรมแรกของหนังสู่เวลาบทแรกของนวนิยาย นพพรพบ มรว.กีรติ ครั้งแรกที่สถานีรถไฟโตเกียวเมื่อ พศ. ๒๔๗๙ ปีแรกที่นวนิยายลงพิมพ์
 

       
 
        ริมลำธารมิตาเกะ : ภาพซ้ายจากภาพยนตร์ข้างหลังภาพ ครูเชิด ทรงศรี

กลับหน้าแรก คลิ๊กตรงนี้
รอยรักข้างหลังภาพ ตามรอยศรีบูรพา (๒) : คลิ๊กตรงนี้

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 61 คน
 สถิติเมื่อวาน 267 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2393 คน
19383 คน
901435 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong