Sangtakieng.com

scaffolding erector, scaffolding inspector and safe access scaffolds  
ผู้ติดตั้งนั่งร้าน ผู้ตรวจ ผู้ใช้นั่งร้านและการกำกับดูแลงานนั่งร้านในสถานประกอบกิจการ
 
ตอนที่หนึ่ง ประเภทนั่งร้าน
 
งานเขียน เรียบเรียง : รณรงค์ แสงตะเกียง
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง
บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA)
e-mail. contact number : sangtakieng@gmail.com  093 7719222

หัวข้อนำเสนอผู้ติดตั้งนั่งร้าน ผู้ตรวจนั่งร้าน ผู้ใช้นั่งร้านและการกำกับดูแลการใช้นั่งร้านแบ่งออกเป็นตอนๆ ดังนี้
  • ตอนที่หนึ่ง ประเภทนั่งร้าน : นำเสนอหน้านี้
  • ตอนที่สอง อันตรายงานนั่งร้าน : คลิ๊กตรงนี้
  • ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๑ : คลิ๊กตรงนี้ 
  • ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๒ : คลิ๊กตรงนี้
  • ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๓ : คลิ๊กตรงนี้  
  • ตอนที่สี่ นั่งร้านโครงสำเร็จรูป : คลิ๊กตรงนี้
  • ตอนที่ห้า นั่งร้านลิ่มล็อค : อยู่ระหว่างพัฒนา
  • ตอนที่หก การกำกับดูแล บริหารจัดการงานนั่งร้าน : อยู่ระหว่างพัฒนา
 
นั่งร้านหมายความว่าที่ทำงานซึ่งจัดไว้สูงจากพื้นดินหรือพื้นอาคาร ส่วนของงานก่อสร้างหรือส่วนของงานซ่อมบำรุงสำหรับเป็นที่รองรับผู้ทำงานหรือวัสดุในการทำงานบนที่สูงเป็นการชั่วคราว เมื่อพิจารณาถึงบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง จึงแบ่งผู้เกี่ยวข้องกับงานนั่งร้านออกเป็นสี่กลุ่มคือผู้ติดตั้งรื้อถอนนั่งร้าน ผู้ตรวจ ผู้ใช้นั่งร้านและผู้กำกับดูแลงานนั่งร้าน (scaffolding erector, inspector, workers and scaffolding supervisor) แต่ละกลุ่มจะฝึกอบรมความรู้พื้นฐานเหมือนกันและจะมีบางหัวข้อที่ต้องฝึกอบรมแตกต่างตามภาระงาน เมื่ออิงตามโครงสร้างของเนื้อหาทั้งหัวข้อแกนและหัวข้อทางเลือก ขั้นต่ำควรมีระยะเวลาฝึกอบรมดังนี้
 
  • ผู้ติดตั้งรื้อถอนนั่งร้าน scaffolding erector ระยะฝึกอบรมสองวัน
  • ผู้ตรวจนั่งร้าน scaffolding inspector ระยะฝึกอบรมสองวัน
  • ผู้ใช้นั่งร้าน scaffolding worker ระยะฝึกอบรมหนึ่งวัน
  • ผู้กำกับดูแลงานนั่งร้าน scaffolding supervisor ระยะฝึกอบรมสองวัน
 

1 การแบ่งกลุ่ม แบบหรือประเภทนั่งร้าน Scaffolding Type 

 
นั่งร้านที่ใช้งานจริงทั้งภาคงานอุตสาหกรรมและภาคงานปฏิบัติการบนที่สูงทั่วไปเช่นงานก่อสร้างบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างทั่วไป เคหะสถานต่างๆ จะแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มคือนั่งร้านไม้ นั่งร้านท่อประกอบ นั่งร้านโครงสำเร็จรูปและนั่งร้านลิ่มล็อค จะอย่างไรก็ตามเอกสารในลำดับนี้มุ่งเน้นให้ความรู้ประเภทของนั่งร้านที่อนุญาตให้ใช้ได้ในภาคงานอุตสาหกรรมเท่านั้น จึงมิได้กล่าวรวมถึงนั่งร้านไม้หรือนั่งร้านไม้ไผ่เอาไว้ด้วย  
 
 
 
การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรปฏิบัติการ จะแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วน คือองค์ความรู้ทั่วไประดับพื้นฐาน ซึ่งหมายความว่าทุกคนซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับงานนั่งร้านต้องผ่านการเรียนรู้ ส่วนที่สองเป็นองค์ความรู้ลักษณะจำเพาะตามภาระงานที่รับผิดชอบ สรุปอย่างง่ายคือ
  1. องค์ความรู้ที่เป็นพื้นฐานทั้งผู้ติดตั้งรื้อถอน ผู้ตรวจ ผู้ใช้นั่งร้านและผู้กำกับดูแลงานนั่งร้าน
  2. องค์ความรู้ลักษณะจำเพาะตามลักษณะงานหรือตามหน้าที่รับผิดชอบ  
แบบหรือประเภทนั่งร้านที่ใช้ในภาคงานอุตสาหกรรม นั่งร้านที่ใช้ในภาคงานอุตสาหกรรม สามกลุ่มแบ่งออกเป็นแปดแบบย่อยดังต่อไปนี้  
  • นั่งร้านแบบ เสาเรียงเดี่ยว single pole scaffolds
  • นั่งร้านแบบ ยกพื้นอิสระ independent scaffolds
a) นั่งร้านแบบ หอสูง tower scaffolds 
b) นั่งร้านแบบ เคลื่อนที่ได้ mobile scaffolds  
 
  • นั่งร้านแบบ ยกพื้นกว้าง platform scaffolds
  • นั่งร้านแบบ ยกพื้นค้ำยัน cantilever scaffolds
  • นั่งร้านแบบ แขวนห้อย overhung scaffolds
  • นั่งร้านแบบ เท้าแขน bracket scaffolds
  • นั่งร้านแบบ โครงสำเร็จรูป prefabricate scaffolds
  • นั่งร้านแบบ ลิ่มล็อค ring lock
 

แบบที่หนึ่ง นั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว single pole scaffolds   
 
เป็นนั่งร้านท่อประกอบ ลักษณะติดตั้งเสาเพียงแถวเดียว จึงเรียกนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยวหรือบางครั้งเรียกว่านั่งร้านเสาฝาก นั่งร้านแบบนี้จะถูกติดตั้งแนวขนานกับโครงสร้างของโรงเรือน โดยคานนั่งร้าน (scaffolding runner) ด้านหนึ่งจะติดตั้งไว้กับโครงสร้างของโรงเรือน ส่วนอีกด้านก็ยืนเสาขึ้นมาและติดตั้งไว้กับเสา    
 

 

การยึดคานกับโครงสร้างโรงเรือนซึ่งเป็นด้านเสาฝาก ต้องยึดโดยใช้บีมแคลมป์ beam clamp หากมีเหตุให้ยึดด้วยแคลมป์ไม่ได้ ต้องยึดด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งต้องติดตั้งตามที่วิศวกรโยธาหรือวิศวกรโครงสร้างกำหนดให้ ส่วนการยึดท่อที่ตำแหน่งอื่นๆ ก็ใช้มาตรฐานเดียวกันกับนั่งร้านท่อประกอบทั่วไป (ดูภาพประกอบ)
 

 

แบบที่สอง นั่งร้านยกพื้นอิสระ independent scaffolds    
 
นั่งร้านแบบยกพื้นอิสระเป็นแบบของนั่งร้านท่อประกอบ (tubular scaffolds) ที่ใช้งานกันมากที่สุดในภาคงานปฏิบัติการอุตสาหกรรม ลักษณะติดตั้งและการใช้งานมีทั้งติดตั้งอยู่กับที่บนพื้นและมีล้อเคลื่อนที่ได้ จึงแบ่งนั่งร้านออกเป็น ๒ แบบคือ  
  • นั่งร้านแบบหอสูง tower scaffolds
  • นั่งร้านแบบเคลื่อนที่ได้ mobile scaffolds   
นั่งร้านหอสูง tower scaffolds
 
นั่งร้านหอสูง เป็นนั่งร้านท่อประกอบที่ติดตั้งจากพื้นด้านล่าง หมายความว่าส่วนโคนเสานั่งร้าน นับตั้งแต่แผ่นรองฐาน แผ่นรองตีนเสาและท่อเสาจะถูกติดตั้งจากพื้นราบระดับดินหรือพื้นของอาคาร กรณีสูงเกินสัดส่วนของความกว้างฐาน หมายถึงฐานส่วนที่แคบสุด ต้องมีการค้ำยันหรือยึดตรึงกับโครงสร้างอื่นที่แข็งแรง ป้องกันการล้ม, ข้อกำหนดและคุณลักษณะนั่งร้านแบบหอสูง
 
  • ติดตั้งจากพื้นดินหรือพื้นอาคาร ความสูงต่อชั้น ไม่เกิน ๒.๑ เมตร เช่นเดียวกันกับนั่งร้านท่อประกอบแบบอื่นๆ
  • ติดตั้งภายในอาคาร สูงได้ไม่เกิน ๔ เท่าหรือทุกสองชั้นหรือ ๔ เมตร ต้องยึดตรึงกันล้มกับโครงสร้างที่แข็งแรง ส่วนด้านนอกอาคารไม่เกิน ๓.๕ เท่าของฐานส่วนที่แคบสุด โดยไม่ต้องยึดโยง (standing)
  • หากสูงกว่าสัดส่วนที่กำหนดต้องยึดโยง สมอบกหรือขยายฐาน
  • หากไม่ติดตั้งผ้าใบ ไม่ต้องนำแรงปะทะลม wind load มาคำนวณ

ต้องไม่ลืมว่านั่งร้านความกว้างฐานคงเดิม เมื่อเราติดตั้งสูงขึ้น จุดศูนย์ถ่วงของโครงสร้างก็จะสูงตามไปด้วย เมื่อนำเงื่อนไขดังกล่าวมีเทียบเคียงกับทฤษฎีการล้มของวัตถุ ซึ่งกล่าวว่า วัตถุจะล้มก็ต่อเมื่อจุดศูนย์ถ่วงออกนอกฐานรับแรง หมายความว่าหากจุดศูนย์ถ่วงสูงขึ้นแต่ฐานนั่งร้านเท่าเดิม เมื่อมีแรงมากระทำวัตถุก็จะล้ม มาตรฐานอังกฤษ อนุกรม BS EN 12811 ว่าด้วยการติดตั้งนั่งร้านจึงกำหนดให้มีการยึดตรึงกันล้มตามข้อกำหนดที่กล่าวถึงในข้างต้น
 
นั่งร้านเคลื่อนที่ได้ mobile scaffolds
 
นั่งร้านเคลื่อนที่ได้ ปกติเป็นนั่งร้านท่อประกอบที่ติดตั้งเบย์เดียวสี่เสา ที่โคนเสาล่างสุดจะติดตั้งล้อสำหรับเข็นเคลื่อนที่ เหมาะกับการใช้งานบนพื้นราบ บดอัด พื้นไม่ทรุดตัวและความสูงพื้นต้องเป็นระดับเดียวกัน ข้อกำหนดการติดตั้ง
  • ใช้บนพื้นราบ บดอัดไม่ทรุดตัว
  • ใช้งาน very light duty load เช่นเดียวกับนั่งร้านแขวนห้อยและนั่งร้านยกพื้นค้ำยัน ฐานกว้าง ๑.๒-๒.๗ เมตร
  • ความสูงนั่งร้าน อนุญาตในอาคารไม่เกิน ๓.๕ เท่าและนอกอาคารไม่เกินสามเท่าของฐานส่วนที่แคบสุด
  • หากความสูงไม่พอกับระดับทำงาน อนุญาตให้ขยายฐานได้อีก ๒๐ เซนติเมตร ซึ่งการขยายฐาน ๒๐ เซนติเมตร ก็จะสามารถเพิ่มความสูงได้ ๒๐ x ๓= ๖๐ เซนติเมตร หากเพิ่มมากกว่านี้ ล้อนั่งร้านจะรับโหลดมากเกินไปและอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุล้อนั่งร้านหัก (ให้อ้างอิงค่าคำนวณรับแรงจากวิศวกรโยธา)
  • นั่งร้านเคลื่อนที่ได้ จะติดตั้งจากนั่งร้านท่อประกอบเท่านั้น (tubular scaffolds) กรณีนำนั่งร้านแบบโครงสำเร็จรูป (prefabricate scaffolds) มาแปลงสภาพโดยใช้ท่อและ แคลมป์ร่วมด้วย ต้องให้วิศวกรเป็นผู้กำหนดและแบบที่วิศวกรกำหนดให้เก็บไว้กับตัวนั่งร้าน ให้พร้อมตรวจสอบได้
 
แบบที่สาม นั่งร้านยกพื้นกว้าง platform scaffolds
 
นั่งร้านยกพื้นกว้าง จะใช้กับพื้นที่สัญจรในเขตชุมชน ซึ่งทางสัญจรดังกล่าวไม่มีพื้นที่ให้สร้างทางเบี่ยงหรือไม่สามารถปิดกั้นได้ เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรจึงต้องติดตั้งนั่งร้านแบบนี้ เมื่อพิจารณาภาพ จะเห็นว่าการติดตั้งจะสร้างคร่อมเป็นอุโมงค์ เพื่อให้คน จักรกลเคลื่อนที่หรือยานยนต์ขนาดเล็กลอดผ่านได้ สิ่งที่แตกต่างคือคานของนั่งร้านจะยาว จึงต้องสร้างเป็นลักษณะโครงถักหรือลักษณะ pre-building เหตุผลเพื่อป้องกันการโก่งตัวเมื่ออยู่ในภาวะรับโหลด
 
  
 
 

 

แบบที่ห้า นั่งร้านแขวนห้อย overhung scaffolds
 
นั่งร้านแบบแขวนห้อยใช้เฉพาะ very light duty load การส่งถ่ายโหลดจะตรงกันข้ามกับนั่งร้านแบบยกพื้นค้ำยัน นั่งร้านแบบยกพื้นค้ำยันจะส่งถ่ายโหลดผ่านเสาค้ำยันลงไปยังผนังตามแนวดิ่งของโครงสร้าง แต่นั่งร้านแบบแขวนห้อย โหลดจะเกิดกับโครงสร้างด้านบนที่แขวนยึดไว้ ข้อดีการติดตั้งก็เหมือนนั่งร้านแบบยกพื้นค้ำยันคือไม่ต้องติดตั้งจากพื้นล่าง
นั่งร้านแบบยกพื้นค้ำยันหรือแบบแขวนห้อย ต้องถูกกำหนดแบบและติดตั้งตามแบบที่วิศวกรกำหนด บางสภาพการทำงานทางทะเลซึ่งไม่มีพื้นด้านล่าง เช่นแท่นขุดเจาะหรือเรือเดินทะเล ก็เหมาะที่จะใช้นั่งร้านแบบนี้ เสาของนั่งร้านแบบแขวนห้อย ต้องติดตั้งแคลมป์กันรูด checked clamp ที่ด้านบนและด้านล่างของพื้นนั่งร้าน  
 
 
 
แบบที่หก นั่งร้านเท้าแขน bracket scaffolds
 
นั่งร้านแบบเท้าแขน ปกติจะใช้งานลักษณะจำเพาะกับถังลูกโลกหรือถังอื่นใดที่มีผิวงานโป่งหรือกลมคล้ายลูกโลก เสานั่งร้านจะติดตั้งโดยวิธีเชื่อมยึดกับพื้นผิวของถัง ก่อนเชื่อมติดตั้งต้องได้รับอนุญาตเป็นเอกสารจากวิศวกรผู้ออกแบบเสียก่อน ทั้งนี้เนื่องจากถังทำจากเหล็กคาร์บอนต่ำ (carbon composition 0.03-0.07 percent) เมื่อใช้วิธีเชื่อมซึ่งเป็นกระบวนการทางความร้อน เมื่อปล่อยให้เย็นตัวในอุณหภูมิบรรยากาศ เกรนของเหล็กจะโตผนังรับแรงดันได้ลดลง จึงต้องระมัดระวัง 
 
แบบที่เจ็ด นั่งร้านโครงสำเร็จรูป prefabricate scaffolds  
 
นั่งร้านแบบโครงสำเร็จ แรกเดิมถูกคิดและออกแบบโดยวิศวกรชาวญี่ปุ่น ภาษาตลาดจึงเรียกว่านั่งร้านญี่ปุ่น จุดเด่นก็คือติดตั้งได้ง่าย รวดเร็วและรับโหลดได้ตามค่าทางวิศวกรรมที่กำหนด หากอ้างอิงตามมาตรฐานและข้อมูลจำเพาะ ซึ่งหมายถึงไม่ได้แปลงสภาพโดยนำอุปกรณ์ท่อและแคลมป์โลหะมายึดทาบ พบว่ามีข้อจำกัดหลายประเด็นและเป็นเหตุที่หลายบริษัทหรือหน่วยงานที่บริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเข้มข้น ไม่อนุญาตให้นำเข้ามาใช้ในสถานประกอบกิจการ /ข้อจำกัดของนั่งร้านโครงสำเร็จรูป สรุปได้ดังนี้
  • ติดตั้งบนที่คับแคบกว่าความกว้างของโครงนั่งร้านไม่ได้
  • ไม่มีแผ่นกันของตก
  • ติดตั้งได้ไม่เกินสองชั้น (หากสูงกว่านี้ต้องแปลงสภาพโดยใช้แคลมป์และท่อโลหะมายึดทาบ การแปลงสภาพดังกล่าวต้องกำหนดโดยวิศวกร)
  • ติดตั้งได้แบบเดียวคือแบบหอสูง ติดตั้งแบบอื่นไม่ได้
  • อนุญาตรับโหลดไม่เกินระดับ light duty load หมายถึงเมื่อเทียบเคียงกับการรับโหลดของมาตรฐานอังกฤษ อนุญาตไม่เกิน ๑๕๓ กิโลกรัมต่อตารางเมตร
ฉะนั้น การนำนั่งร้านแบบโครงสำเร็จรูปเข้ามาใช้งานในสถานประกอบกิจการ ต้องขออนุญาตจากตัวแทนผู้บริหารเสียก่อน การพิจารณาอาจอนุมัติให้ใช้งาน ไม่อนุมัติหรืออนุมัติโดยกำหนดเงื่อนไขที่เป็นลักษณะจำเพาะเอาไว้ก็ได้  


แบบที่แปด นั่งร้านลิ่มล็อค ring lock 
 
โครงสร้างหลักนั่งร้านติดตั้งเข้าด้วยกันด้วยวิธีตอกลิ่ม จุดเด่นคือประกอบง่ายและอุปกรณ์ล็อคมีชิ้นหลักคือลิ่ม อุปกรณ์ส่วนควบอื่นซึ่งใช้จับยึดนั่งร้านมีน้อยแบบ แต่ข้อด้อยที่ยากลำบากคือต้องใช้ท่อดิ่งและท่อนอนและอุปกรณ์อื่นมากชิ้น เนื่องจากปรับระยะกว้างยาวไม่ได้เหมือนนั่งร้านท่อประกอบ จากข้อจำกัดดังกล่าว น่าจะเป็นเหตุให้ประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน นิยมใช้งานน้อยกว่านั่งร้านโครงสำเร็จรูปและนั่งร้านแบบท่อประกอบ 
หากศึกษาในรายละเอียดทั้งภาคทฤษฎีและศึกษาโดยเก็บข้อมูลการติดตั้งจากภาคสนาม พบว่าแนวคิดการออกแบบ การติดตั้งรื้อถอนและการใช้งานคล้ายเป็นการผสมผสานระหว่างนั่งร้านโครงสำเร็จรูปกับนั่งร้านแบบท่อประกอบ ทั้งนี้โดยมีฐานการออกแบบจากวิชาการทางด้านงานโครงสร้าง
 

 

บันทึกเพิ่มเติม สำหรับนั่งร้านไม้ wooden or bamboo scaffolds

นั่งร้านไม้จะประกอบเข้าด้วยกันด้วยการตอกตะปู ส่วนนั่งร้านไม้ไผ่จะประกอบเป็นลักษณะโครงสร้างโดยใช้เชือกขันชะเนาะ ในหลายประเทศที่มีมาตรฐานการทำงานบนที่สูงระดับสากล ได้ยกเลิกการใช้งานไปแล้วและในภาควิศวกรรมความปลอดภัย ก็มิได้กล่าวถึงในคู่มือหรือในตำราอีกต่อไป นั่งร้านไม้หรือนั่งร้านไม้ไผ่ ไม่อนุญาตให้ใช้งานในภาคงานอุตสาหกรรม เนื่องจากมีหลายตัวแปร ที่ยากต่อการควบคุมคุณภาพ ตัวแปรที่ทำให้ความแข็งแรงนั่งร้านลดลง อาจมีดังต่อไปนี้  
  • อายุไม้
  • ขนาดความโตเส้นผ่าศูนย์กลางของลำไม้
  • ทิศทางเสี้ยนไม้
  • รอยสัตว์กัดแทะ
  • ขนาดตะปู วิธีตอกตะปูหรือ วัสดุมัดยึด วิธีมัดยึด
  • ขนาดเชือกขันชะเนาะ วิธีขันชะเนาะ ฯลฯ เป็นต้น
 
งานฝึกอบรม  แปลเอกสารเซฟตี้ ปรึกษาการจัดทำระบบ-ระเบียบปฏิบัติ : บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA)  Tel 093 7719222 E-mail : sangtakieng@gmail.com 

 

 

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ตอนที่สอง อันตรายงานนั่งร้าน : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๑ : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๒ : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๓ คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ตอนที่สี่ นั่งร้านโครงสำเร็จรูป : อยู่ระหว่างพัฒนา
ไปยังเมนู ตอนที่ห้า นั่งร้านลิ่มล็อค : อยู่ระหว่างพัฒนา 
ไปยังเมนู ตอนที่หก การกำกับดูแล บริหารจัดการงานนั่งร้าน : อยู่ระหว่างพัฒนา 
  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 16 คน
 สถิติเมื่อวาน 139 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2240 คน
45582 คน
927634 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong