Sangtakieng.com
 
 ๖.๑ ตอนที่หก
working at heights safety engineering
วิศวกรรมความปลอดภัยการทำงานบนที่สูง 
ตอนที่หก (๖.๑) การกำกับดูแลงานแบบ SPEW และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
งานเขียน เรียบเรียงและนำเสนอ : รณรงค์ แสงตะเกียง 
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง 
e-mail : sangtakieng@gmail.com mobile 093 7719222 
 
บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA) : ฝึกอบรม สัมมนา
อบรม สัมมนา งานที่ปรึกษาจัดทำระบบ & ระเบียบปฏิบัติงาน 
e-mail : sangtakieng@gmail.com  mobile 093 7719222 

การกำกับดูแลงานแบบ SPEW และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
แม้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานบนที่สูงของราชอาณาจักรไทย จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง นอกจากจะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของภาครัฐแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านคงต้องร่วมกันพัฒนาในโอกาสต่อไปเป็นลำดับขั้น หากแต่เบื้องแรกนายจ้างต้องกำกับดูแลให้พนักงานระดับจัดการ พนักงานบังคับบัญชาและผู้ปฏิบัติงานของสถานประกอบกิจการ ปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายเสียก่อน การปฏิบัติให้สอดคล้อง ต้องเริ่มจากการทวนสอบให้เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับที่เกี่ยวข้องกับงานเสียก่อน ลำดับนี้จะนำตัวอย่างกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานบนที่สูงมาเป็นโมเดลเรียนรู้ เมื่อใดกฎหมายถูกพัฒนาแก้ไขไปจากเดิม ก็ต้องศึกษาและนำกฎหมายฉบับล่าสุดมาใช้แทนเสมอ
 
ขั้นพื้นฐานที่ผู้เกี่ยวข้องการทำงานบนที่สูงต้องทราบกฎหมายดังต่อไปนี้  
 
  • พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางาน พุทธศักราช ๒๕๕๔
  • กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พุทธศักราช ๒๕๖๔
  • กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานที่-ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน จากการกระเด็น ตกหล่นและพังทลาย และจากการตกไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ พุทธศักราช ๒๕๖๔
  • กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่นและหม้อน้ำ พุทธศักราช ๒๕๕๒
  • กฎหมายระดับ ประกาศกรม คำสั่ง ข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบทางราชการ ข้อหารือกฎหมาย กฎหมายท้องถิ่น ฯลฯ หรืออื่นใดที่ผูกพันกับพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงข้างต้น
  • ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล พุทธศักราช ๒๕๕๑
  • ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา พุทธศักราช ๒๕๕๑ 
 
จะเห็นได้ว่าการทำงานบนที่สูง ไม่ได้มีกฎหมายหรือเอกสารที่เป็นแนวปฏิบัติ (working at heights the code of practice) จากกองความปลอดภัยแรงงานหรือหน่วยงานจากกระทรวงใดๆ เป็นการเฉพาะ ฉะนั้นการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงต้องทำความเข้าใจให้ครอบคลุมตามกระบวนการทำงานที่จะดำเนินการด้วย 
การทำความเข้าใจ แนะนำให้เริ่มต้นตามลำดับดังนี้  
 
  • รู้พื้นฐานลำดับชั้นกฎหมาย
  • วิธีอ่านกฎหมายระดับกฎกระทรวง การตีความกฎหมาย
  • การเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับกฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่า (กฎหมายลูก) และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ลำดับชั้นกฎหมาย-ประเทศไทยปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แบ่งอำนาจการใช้กฎหมายออกเป็นสามส่วนคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ กฎหมายจะบังคับบัญชาลงมาเป็นลำดับขั้น กฎหมายลำดับชั้นต่ำกว่าจะขัดแย้งกับกฎหมายที่ระดับสูงกว่าไม่ได้, ลำดับชั้นกฎหมายเรียงจากสูงกว่าไปยังต่ำกว่าดังนี้
 
  • รัฐธรรมนูญ
  • พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด
  • พระราชกฤษฎีกา
  • กฎกระทรวง
  • ประกาศกรม คำสั่ง ข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบทางราชการ ข้อหารือกฎหมาย กฎหมายท้องถิ่น ฯลฯ  
วิธีอ่านกฎกระทรวง ให้อ่านข้อความทั้งหมดที่อยู่ก่อนหมวดหนึ่งก่อน หลังจากนั้นจึงค้นหาว่ามีกี่หมวด แต่ละหมวดชื่อว่าอย่างไร การค้นหาดังกล่าวทำให้เราสามารถค้นหาข้อมูลและใช้กฎหมายได้เร็วขึ้น การอ่านฯ ต้องอ่านแบบบอกตำแหน่งกฎหมาย โดยให้เรียงลำดับจาก-หมวด ส่วนที่ ข้อ วรรค วงเล็บและทวิ  
 
ห้าเงื่อนไขที่ต้องรู้เมื่อใช้กฎกระทรวง
 
  1. รู้จักชื่อเต็มกฎหมายที่จะนำมาใช้ ตัวอย่างเช่นกฎหมายที่นำมาใช้ชื่อเต็มคือ กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานที่-ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน จากการกระเด็น ตกหล่นและพังทลาย และจากการตกไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ พุทธศักราช ๒๕๖๔ เหตุผลคือเพื่อให้มั่นใจได้ว่ากฎหมายที่นำมาใช้อ้างอิง ไม่ผิดฉบับ
  2. รู้อำนาจการออกกฎหมาย เหตุผลคือต้องรู้ว่ากฎหมายที่จะนำมาใช้งานกับการทำงานบนที่สูงฉบับนั้นๆ มาจากพระราชบัญญัติหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตราใด ทำให้เราเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมายได้มากขึ้น
  3. รู้ว่าประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อใด
  4. อ่านกฎหมายเป็น บอกตำแหน่งได้เกี่ยวกับหมวด ส่วนที่ ข้อ วรรค วงเล็บและทวิของกฎหมาย
  5. ตีความกฎหมายได้ ความสามารถในการตีความกฎหมาย บุคคลต้องมีความรู้สองส่วนประกอบกัน หมายความว่าต้องรู้วิศวกรรมความปลอดภัยการทำงานบนที่สูงและรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากรู้สองส่วนนี้ก็จะตีความกฎหมายได้  

องค์ประกอบความปลอดภัยและวิธีกำกับดูแลงานบนที่สูง
การบริหารจัดการ กำกับดูแลด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยของผู้ปฏิบัติงานไม่ว่าเป็นพนักงานหรือผู้รับเหมา ให้บริหารจัดการและกำกับดูแล สี่องค์ประกอบ 
 
  1. กำกับดูแล บริหารจัดการให้มีระบบปลอดภัย system safety
  2. กำกับดูแล บริหารจัดการให้คนทำงานปลอดภัย people safety
  3. กำกับดูแล บริหารจัดการเครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุใช้งานหรือวัตถุดิบปลอดภัย tools, equipment, machine and material safety
  4. กำกับดูแล บริหารจัดการพื้นที่ สภาพแวดล้อมการทำงานปลอดภัย area attribution or working environment safety  
 
 
องค์ประกอบที่หนึ่ง ระบบปลอดภัย System Safety
 
ระะบบปลอดภัย หมายถึงระเบียบปฏิบัติ (system procedure) ข้อกำหนด เอกสารสนับสนุนการปฏิบัติงานหรือกฎหมาย ซึ่งองค์กรนำมาเป็นแนวปฏิบัติเพื่อกำกับดูแลให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้รับเหมาปฏิบัติตาม สำหรับกฎหมายทุกองค์กรที่ประกอบกิจการในเขตราชอาณาจักรต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว ผู้กำกับดูแลเพียงประสานเน้นย้ำให้มีการปฏิบัติตาม ก็ถือว่าเพียงพอ  
 
  • ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของบริษัท
  • ขออนุญาตทำงาน ล็อคเอาท์ระบบและปิดกั้นควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงาน
  • กำหนดให้ผ่านการฝึกอบรมตามที่กฎหมายกำหนดและตามลักษณะงาน
  • ผู้ปฏิบัติงานต้องมีสุขภาพเป็นปกติ พร้อมปฏิบัติงาน (fit to work)
 
เอกสารสนับสนุนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการทำงานบนที่สูงมีทั้งเอกสารที่องค์กรจัดทำขึ้นให้สัมพันธ์กับกระบวนการธุรกิจของตนเอง เรียกว่าเอกสารภายในและอีกส่วนเป็นเอกสารจากภายนอกที่นำเข้ามาใช้งานหรือใช้อ้างอิงเช่น กฎหมาย มาตรฐานสากลต่างๆ ฯลฯ เมื่อนำเอกสารเหล่านี้มาพิจารณา พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับเอกสารหลายฉบับ ฉะนั้นในทางปฏิบัติพนักงานระดับจัดการต้นสังกัดของส่วนงาน ต้องกำหนดวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนว่าจะสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานทราบด้วยวิธีใด ว่าลักษณะงานที่ได้รับมอบหมายต้องปฏิบัติตามเอกสารใดบ้าง ทั้งนี้เป็นการป้องกันรอบด้านทั้งเชิงป้องกันอุบัติเหตุ ปริมาณงานแล้วเสร็จเป็นลำดับขั้น คุณภาพงานและเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายสูญเปล่าที่อาจเกิดจากงานที่ผิดพลาดซึ่งไม่ชี้แจงสื่อสารให้คนทำงานเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้น อีกด้วย  
 
ข้อจำกัดและข้อควรระวังของประเทศไทยและประเทศในภาคพื้นเดียวกันเกี่ยวกับระบบปลอดภัย จากการสังเกตและเก็บข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ นับแต่ปี ๒๕๓๒ ถึงปัจจุบัน อุปสรรค์การนำระบบปลอดภัยมาใช้มักเกิดจากหลายข้อจำกัด
การพัฒนาและยกระดับการทำงานบนที่สูงให้เทียบเท่าอุตสาหกรรมระดับอารยะ พนักงานจัดการและพนักงานบังคับบัญชาของฝ่ายปฏิบัติการ ต้องแสดงบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับภาระงานของตนเอง (role and responsibilities as per position description) ซึ่งจำเป็นต้องครอบคลุมงานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยด้วย ขั้นต่ำต้องครอบคลุมหัวข้อต่อไปนี้
 
Safety Control กิจกรรมปฏิบัติงานของพนักงานจัดการในส่วนที่รับผิดชอบ ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการทางด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย ป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ส่วนพนักงานบังคับบัญชาก็ต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามที่พนักงานจัดการสั่งการ
จงปรับความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าคนของฝ่ายงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบให้คำปรึกษาและสนับสนุนเท่านั้น (consultancies and support) ส่วนการดำเนินงานอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบโดยตรงของผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายแห่งราชอาณาจักร ถือว่าผู้จัดการต้นสังกัดของฝ่ายงานปฏิบัติการ เป็นตัวแทนนายจ้างโดยตำแหน่ง
เอกสารสนับสนุนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการทำงานบนที่สูง ต้องสื่อสารชัดเจนกับผู้ปฏิบัติงาน ว่าลักษณะงานที่ได้รับมอบหมายต้องปฏิบัติตามเอกสารใดบ้าง : ภาพการ์ตูนประกอบจาก www.vitalinsight.ca
 
 
 
การขออนุญาตทำงานเพื่อทำงานบนที่สูง
 
การขออนุญาตทำงาน มีเจตนารมณ์ให้หัวหน้ากลุ่มงานกับเจ้าของพื้นที่ (job leader and area owner) ได้ร่วมกันพิจารณาถึงขั้นตอนทำงานและมาตรการควบคุมอันตรายก่อนเริ่มทำงาน หากศึกษาเชิงลึกจะพบว่าการขออนุญาตทำงานก็คือการนำหลักการทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม industrial hygiene มาใช้นั่นเอง ตระหนัก-ประเมิน-และควบคุม ตระหนักได้ก็ต้องรู้กระบวนการทำงานและต้องคิดว่าอันตรายที่แฝงอยู่ต้องถูกควบคุม ส่วนการประเมิน ให้มุ่งเน้นและหมายความถึงการชี้บ่งและระบุอันตรายที่แฝงอยู่ในแต่ละขั้นตอนของการทำงาน จากนั้นก็กำหนดมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน และนี่คือเป้าประสงค์ของการขออนุญาตทำงาน, การขออนุญาตทำงานของแต่ละบริษัทอาจมีแบบฟอร์มแตกต่างกันออกไป หากแต่สาระสำคัญที่ต้องมีในเอกสารคือต้องนำหัวข้อกิจกรรมหลักการทำงานบนที่สูงมาแตกเป็นหัวข้อย่อย (break down) นำทุกหัวข้อย่อยมาชี้บ่งระบุอันตรายและกำหนดมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดอันตราย กิจกรรมงานที่เป็นสาระสำคัญจะต้องประกอบด้วย
 
  • เครื่องมือและวิธีขึ้น-ลงที่สูง หมายความว่าใช้เครื่องมือชนิดไหนและวิธีการอย่างไรเพื่อขึ้นลงทำงาน
  • ขั้นตอนหลัก ขั้นตอนย่อยของกิจกรรมงานบนที่สูงและวิธีขนของขึ้นลง
  • วิธีตรวจสอบทดสอบความเรียบร้อยของงานและปิดจบการทำงาน
ทบทวนองค์ความรู้ขั้นต่ำเรื่องขออนุญาตทำงาน
 
เอกสารขออนุญาตทำงาน (permit to work : work permit or authority to work permit) ขั้นต่ำต้องมีสาระสำคัญที่ประกอบด้วยสามส่วน ส่วนแรกเป็นขั้นตอนการทำงาน ส่วนที่สองคือการชี้บ่งและระบุอันตราย หากขั้นตอนใดชี้บ่งและระบุอันตรายได้ ให้นำไปควบคุมอันตราย ซึ่งการควบคุมอันตรายถือว่าเป็นส่วนที่สาม สาระสำคัญที่กำลังกล่าวถึงจะระบุส่วนหนึ่งส่วนใดของใบขออนุญาตทำงาน หรือจัดทำเป็นคู่มือคำแนะนำ (work instruction) และใช้เป็นเอกสารแนบใบขออนุญาตทำงานก็ได้ สามส่วนประกอบด้วย 
 
  • ขั้นตอนงาน work steps or work statement
  • ชี้บ่งและระบุอันตราย hazard identified
  • กำหนดมาตรการป้องกัน ควบคุมอันตรายเฉพาะขั้นตอนที่ชี้บ่งและระบุอันตรายได้ control measure
 
บันทึกเพิ่มเติม อันตรายที่แฝงอยู่ในกระบวนการทำงาน
 
เพื่อให้นำศาสตร์วิชาไปสู่การจัดทำเอกคู่มือคำแนะนำ การให้ความหมายของอันตรายทั้ง ๔ กลุ่มที่แฝงอยู่ในกระบวนการทำงาน เอกสารฉบับนี้จะกล่าวถึงลักษณะประยุกต์ใช้หรือกล่าวถึงในแง่ทฤษฎีเชิงปฏิบัติการเท่านั้น
  • อันตรายทางด้านกายภาพ P-physical hazards หมายถึงอันตรายที่อยู่ในลักษณะ สั่นสะเทือน บาด ตัด หนีบ ทิ่มแทง ฝุ่นควัน ร้อนหนาว รังสี ของตกใส่หรืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน
  • อันตรายทางด้านเคมีและวัตถุอันตราย C-chemical and hazardous substance เคมีและวัตถุอันตรายอาจอยู่ในสถานะของแข็ง ของเหลวหรือก๊าซ ดังนั้นจึงเข้าสู่ร่างกายได้สามทางคือ
สูดดม inhalation
ปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำและกลืนกินเข้าไป ingestion
ซึมผ่านผิวหนัง skin
  • อันตรายทางด้านชีวภาพ B-biological hazards สารทางชีวภาพมีประมาณ ๒๐๐ ชนิดเช่น จุลินทรีย์ สารที่ทำให้เกิดการแพ้ สารพิษ เชื้อโรคหรือการติดเชื้อโรค เป็นต้น ฯลฯ
กรณีเป็นงานปฏิบัติการทั่วไป อาจเข้าใจโดยสังเขป ดังกล่าวข้างต้นก็อาจเพียงพอ แต่หากเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยารักษาโรค อาหาร เครื่องดื่ม ที่ทำตามระบบคุณภาพ GMP, HACCP ต้องศึกษาอันตรายด้านนี้โดยละเอียด
  • อันตรายทางด้านเออร์กอนโอมิกส์ (การยศาสตร์หรือจิตวิทยาสังคม = ergonomics hazards) หมายถึงอันตรายที่เกิดจากสามสาเหตุและส่งผลกระทบต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อโครงร่าง สาเหตุที่ทำให้เกิดอันตราย
การเคลื่อนที่แบบเดิมซ้ำๆ มากครั้ง
ยกของหนักเกินกำลัง
ทำงานด้วยท่าทางฝืนธรรมชาติ  

 
 
วิธีเขียนคู่มือคำแนะนำ Work Instruction
 
ลำดับที่หนึ่ง เขียนขั้นตอนงาน Work Steps or Work Statements
การเตรียมการเพื่อเขียนขั้นตอนงาน เริ่มจากทำความเข้าใจขอบเขตของงานและสำรวจพื้นที่จริง หลังจากนั้นจึงเริ่มกำหนดขั้นตอนงาน โดยเริ่มจากกำหนดขั้นตอนหลักและนำขั้นตอนหลักมาแจกแจงเป็นขั้นตอนย่อยๆ
ขั้นตอนหลักคือขั้นตอนที่บอกลำดับการทำงานกว้างๆ ไม่อธิบายลงรายละเอียด ส่วนขั้นตอนย่อยคือการนำขั้นตอนหลักมาแจกแจงลงรายละเอียดเป็นภาษากริยาว่าให้ทำอย่างไร เช่น ถอดออก ประกอบ ขั้นกวด ตรวจสอบ ฯลฯ เป็นต้น
กรณีศึกษาอย่างง่าย เกี่ยวกับการเขียนขั้นตอนปฏิบัติงาน
แผนภาพเป็นถังเก็บน้ำหล่อเย็นอุปกรณ์เตาหลอมซิลิกาของโรงงานผลิตกระจก ซึ่งในภาวะเดินเครื่องปกติอุณหภูมิของเตาจะสูงประมาณ ๑๔๐๐ ถึง ๑๕๐๐ องศาเซนเซียส กรณีไฟฟ้าดับต้องมีน้ำหล่อเย็นปล่อยลงมาจากด้านบนเพื่อค่อยๆ ลดอุณหภูมิของอุปกรณ์ป้อนทรายแก้ว ป้องกันไม่ให้อุปกรณ์เสียหาย จึงติดตั้งถังน้ำไว้สองระดับ (ดังภาพ) ไว้บนเพลทฟอร์มถาวรด้านบนอุปกรณ์ของเตา
สถานการณ์สมมุติ : ปะเก็นของวาล์วด้านจ่ายรั่ว มีคำสั่งงานเปลี่ยนปะเก็น
 

ประเด็นพิจารณาหลังทำสำรวจพื้นที่ ประเด็นแรก-แม้ถังน้ำหล่อเย็นจะอยู่ที่สูงแต่ติดตั้งบนเพลทฟอร์มถาวร คนทำงานเดินขึ้นลงทางบันไดโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่นมาติดตั้งเพิ่มอีก ประเด็นที่สอง-อุปกรณ์ที่ต้องเปลี่ยนเป็นปะเก็นซึ่งน้ำหนักเบาและใช้เครื่องมือช่างขั้นพื้นฐานเท่านั้น ไม่ต้องมีจักรกลผ่อนแรงเพื่อขนย้าย ดังนั้นจึงเขียนขั้นตอนปฏิบัติเหมือนกับทำงานที่ระดับพื้นล่าง 
  
ต้องเปลี่ยนปะเก็นวาล์วด้านจ่าย จึงกำหนดการปฏิบัติงานเป็นสี่ขั้นตอนหลัก 
  1. การเตรียมการ ตัดแยกพลังงานและล็อคเอาท์ระบบ
  2. ถอดวาล์วด้านจ่ายเพื่อเปลี่ยนปะเก็น
  3. เปลี่ยนปะเก็นและประกอบชิ้นส่วนของปั๊มกลับเช่นเดิม
  4. ตรวจสอบความเรียบร้อยของงานและทดลองเดินเครื่อง  
 
จะเห็นได้ว่าขั้นตอนหลัก มีเจตนารมณ์เพียงบอกลำดับปฏิบัติเป็นกลุ่มงานเท่านั้น ส่วนรายละเอียดว่าให้ทำอย่างไรก่อนหลังยังไม่มี จึงนำไปสนับสนุนการทำงานไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องนำแต่ละขั้นตอนหลักไปแจกแจงเป็นขั้นตอนย่อย 
 
 
 
ลำดับที่สอง ชี้บ่งและระบุอันตราย Hazards Identified

ลำดับทีสอง ให้นำทุกขั้นตอนย่อยมาชี้บ่งและระบุอันตราย โดยชี้บ่งอันตรายให้ครอบคลุมทั้งสี่กลุ่ม ตัวอย่างเช่นนำขั้นตอนที่ ๒.๑ มาชี้บ่งอันตราย ก็ให้ดูว่าในขั้นตอนนี้มีอันตรายทางกายภาพ เคมี ชีวภาพและเออร์กอนโอมิกส์หรือไม่ สมมุติว่ามีอันตรายทางด้านกายภาพ ก็ต้องระบุว่าเป็นอันตรายลักษณะใด สั่นสะเทือน หรือบาด หรือตัด หนีบ ทิ่มแทง ฝุ่นควัน ร้อนหนาว กระแทกชน ฯลฯ ต้องระบุว่ามีอันตรายลักษณะใด
การชี้บ่งและระบุอันตรายนั้น ต้องทำเป็นลำดับขั้นและต้องครอบคลุมอันตรายทุกกลุ่มทั้งอันตรายทางด้านกายภาพ เคมี ชีวภาพและเออร์กอนโอมิกส์ เพื่อให้เข้าใจโดยง่าย จึงสรุปขั้นตอนการชี้บ่งและระบุอันตรายดังนี้

 
 
ลำดับที่สาม กำหนดมาตรการควบคุมอันตราย Control Measure 
 
มาตรการควบคุมอันตรายตามทฤษฎีคือ ควบคุมที่แหล่งกำเนิด ความคุมที่ทางผ่านและควบคุมที่ตัวคนทำงาน (source, patch and receiver) ณ ที่นี้ไม่ได้บอกว่าผิด แต่นำมาใช้งานยากเนื่องจากขอบเขตกว้างเกินไป ในแง่ประยุกต์ใช้จึงแนะนำให้เลือกวิธีควบคุมอันตรายเป็นลำดับขั้น (hierarchy of control) จะง่ายกว่าและควบคุมอุบัติเหตุได้มีประสิทธิภาพสูงกว่า 
 
การควบคุมอุบัติเหตุเป็นลำดับขั้น Hierarchy of Control 
 
  • แยกงานออกจากอันตราย eliminate get rid of the hazard : แม้หลักการควบคุมอุบัติเหตุได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด ทว่าการแยกอันตรายออกจากงาน นำมาใช้งานจริงในแง่งานปฏิบัติการซ่อม สร้าง กู้สภาพยากลำบาก ในที่นี้จึงไม่กล่าวถึงโดยละเอียด แต่จะแนะนำให้ควบคุมอันตรายโดยใช้มาตรการ ๒-๔ มากกว่าซึ่งมาตรการ ๒-๔ สำหรับควบคุมอุบัติเหตุ จะกล่าวถึงในลำดับต่อจากนี้
  • ใช้วิธีหรือกระบวนการที่อันตรายน้อยกว่าแทน substitute replace with less hazardous material or process : สำหรับกระบวนการคิดในการควบคุมอุบัติเหตุต้องพยายามมองถึงหลายๆ ตัวเลือก เงื่อนไขใดอันตรายน้อยกว่าและประสิทธิภาพงานเท่าเดิม ให้เลือกเงื่อนไขนั้นแทน ตัวอย่างเช่น กระบวนการทำงานใช้บันไดพาดเพื่อขึ้นลงทำงานบนที่สูง ปรับเครื่องมือใหม่เปลี่ยนจากบันไดพาดมาใช้นั่งร้านหรือใช้รถกระเช้าแทน
บางขั้นตอนของงานระบุให้ขนย้ายของด้วยรถยก แต่เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียดพบว่าของที่จะขนยายนำหนักประมาณ ๑๕-๒๐ กิโลกรัม ขนย้ายเพียงระยะทางสั้นๆ และเป็นงานลักษณะที่ทำเป็นครั้งคราว (one off job or infrequent job) จึงเลือกใช้ hand pallet truck แทนรถยก
ติดตั้งนั่งร้านท่อประกอบเพื่อใช้ในงานซึ่งมีความร้อนและประกายไฟ จึงระบุให้ใช้พื้นนั่งร้านแบบโลหะแทนการใช้พื้นนั่งร้านที่เป็นไม้ ฯลฯ เป็นต้น 
 
  • เครื่องป้องกันระหว่างอันตรายกับคนหรือตัดแยกระบบ engineering a solution (barriers, isolation) guards between people and hazards : คือการใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เพื่อควบคุมอันตราย ซึ่งเรามักเรียนรู้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นแถบกันเตือน แถบกั้นอันตรายและธงริ้ว, รั้วแข็ง สัญลักษณ์ความปลอดภัยและหมายความรวมถึงการนำมาใช้หรือยกเลิกอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ตามลักษณะงานด้วย ตัวอย่างเช่น
  1. ตัดแยกพลังงานให้ครบคลุมอุปกรณ์ทางไฟฟ้า อุปกรณ์ทางกล พลังงานสะสมจากของที่วางสูงจากพื้น (stored energy) และล็อคเอาท์ระบบก่อนซ่อม สร้าง กู้สภาพหรือแปลงสภาพเครื่องจักรโรงงาน
  2. ขีดสีตีเส้นเหลืองดำ ขึงล้อมด้วยแถบเหลืองดำ ขึงล้อมด้วยธงริ้วเหลืองดำหรือใช้ไฟวับวาบสีเหลือง แสดงเขตเตือนให้ระวังอันตราย
  3. ขีดสีตีเส้นขาวแดง ขึงล้อมด้วยแถบขาวแดง ขึงล้อมด้วยธงริ้วขาวแดงหรือใช้ไฟวับวาบสีแดง แสดงเขตอันตรายห้ามเข้า
  4. ทำงานสูงจากพื้น ติดตั้งตาข่ายป้องกันของตกไม่ให้ของที่ตกโดนคนที่ทำงานอยู่ด้านล่าง
  5. เขตก่อสร้างติดตั้งรั้วแข็งแรงสูงสองเมตรและติดตั้งป้ายพื้นขาวตัวหนังสือสีแดง ข้อความเขตก่อสร้างห้ามเข้า
  6. ทำงานใกล้เส้นทางสัญจรวางกรวยจราจรเป็นช่วงๆ ก่อนถึงพื้นที่ทำงานและในระยะห้าเมตรกับพื้นที่ทำงานวางผนังปูนความสูงเก้าสิบเซนติเมตร ที่ผนังปูนมีสีสะท้อนแสงเป็นแถบเฉียงสลับสีขาวแดง
  7. พื้นที่ซึ่งจะเข้าไปซ่อมบำรุงเครื่องจักรคับแคบ จึงถอดท่อที่กีดขวางออกเป็นการชั่วคราว หลังงานแล้วเสร็จจะประกอบกลับที่เดิม
  8. งานซ่อมบำรุงเครื่องจักรบนเพลทฟอร์มสูงสี่เมตร ชิ้นส่วนที่ถูกถอดออกขณะซ่อมบำรุงใช้วิธียึดรั้งไม่ให้ตกลงด้านล่าง
  9. ติดตั้งสัญญาณแสงและสัญญาณเสียง เมื่อจักรกลขนถ่ายทำงาน ฯลฯ   
 
  • กำหนดนโยบาย มีระบบเอกสารสนับสนุนการปฏิบัติงาน เช่นขออนุญาตทำงาน ระเบียบปฏิบัติ คู่มือคำแนะนำ ใช้มาตรฐานสากล ใช้กฎหมาย ฝึกอบรมคน ฯลฯ เป็นต้น
  • ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ตรงกับลักษณะงาน อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ อุปกรณ์ระดับพื้นฐานและระดับพิเศษเฉพาะงาน
การควบคุมอุบัติเหตุให้ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เป็นมาตรการร่วมเท่านั้น หมายถึงนอกจากจะใช้มาตรการข้างต้นแล้วก็ให้ใช้ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลร่วมด้วย
 
การขออนุญาตทำงาน Permit to Work or Work Permit 
 
การขออนุญาตทำงานถือว่าเป็นรากฐานสำคัญและมีความจำเป็นต้องจัดทำอย่างมีคุณภาพ รายละเอียดของเอกสารจะกำหนดขอบเขตของการทำงาน ขั้นตอนหลัก ขั้นตอนย่อย ชี้บ่งระบุอันตรายและควบคุมอันตรายในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน จริงแล้วระบบนี้ถูกนำมาใช้และพัฒนาต่อเนื่องมาแต่แต่ช่วงปี ๒๕๓๐ กระทั่งวันนี้นับว่านานพอควร ทว่าประเทศไทยและภาคพื้นใกล้เคียงกลับคืบเดินช้า ถูกนำมาใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากประเมินโดยหยาบประสิทธิภาพไม่เกินสี่สิบเปอร์เซ็นต์ เอกสารฉบับนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบขออนุญาตทำงาน  
 
อธิบายเจ็ดขั้นตอนการเปิดงาน  
ขั้นตอนที่หนึ่ง ระบุขอบเขตและรายละเอียดของงานที่จะปฏิบัติ  Job Detail : หมายถึงให้ระบุชื่องานที่จะทำและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละองค์กรอาจกำหนดแบบฟอร์มแตกต่างกันบ้าง แต่ขั้นต่ำต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
  • ชื่องาน job title เขียนระบุชื่องานในแบบฟอร์มว่าจะทำอะไร ตัวอย่างเช่น งานติดตั้งรางสายไฟผนังคลังสินค้า ๔ ที่ระดับสูงแปดเมตร เปลี่ยนปะเก็นวาล์วด้านดูดปั้มส่งน้ำดิบที่เพลทฟอร์มชั้นสองของแทงค์ฟาร์ม ซ่อมเพลาขับสายพานลำเลียงของเครื่องบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ เป็นต้น
  • หมายเลขงาน job id number หมายเลขงานให้กำหนดขึ้นเอง ใช้เฉพาะการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนและการซ่อมบำรุงในคราวนั้นมีจำนวนงานเกินสามงาน เหตุผลคือจะทำให้การบริหารงานซ่อมบำรุงง่ายขึ้น ส่วนกรณีที่ซ่อมเครื่องจักรขัดข้องในลักษณะ break down maintenance จะกำหนดหรือไม่กำหนดหมายเลขงานก็ได้ (optional not mandatory)
  • พื้นที่ปฏิบัติงาน working area ให้ระบุว่าทำงานที่ส่วนงานใดหรือพื้นที่ใด ตัวอย่างเช่น ส่วนงานขึ้นรูปท่อเหล็ก โรงบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ
  • ชื่อเครื่องจักรหรือชื่ออุปกรณ์ equipment หมายถึงให้เขียนบันทึกลงในแบบฟอร์มว่าเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่จะเข้าไปทำงานชื่ออะไร
  • วันเริ่มงานและกำหนดเสร็จ start date-finish date การขออนุญาตทำงานต้องมีแผนทำงาน ในที่นี้จึงหมายถึงเวลาตามแผนและหากว่าระยะเวลาปฏิบัติงานจริงยาวกว่าที่แผนกำหนดไว้ ให้ประสานเจ้าของหน่วยงานเพื่อขออนุญาตขยายเวลาทำงาน  
 
ขั้นตอนที่สอง เอกสารแนบเพื่อขออนุญาตทำงาน Permit to Work Elements เอกสารแนบเพื่อขออนุญาตทำงานมีสองส่วนคือ 
  • เอกสารคู่มือคำแนะนำหมายถึงเอกสารที่มีสามองค์ประกอบคือ หนึ่งขั้นตอนปฏิบัติงาน work steps สองชี้บ่งระบุอันตรายงานแต่ละขั้นตอน hazard identified และสามขั้นตอนใดที่ชี้บ่งและถูกระบุว่าอาจเกิดอันตรายให้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกัน control measure
  • ใบรายการตัดแยกพลังงานและล็อค-เอาท์ระบบ (energy isolation and lockout list) ซึ่งหมายถึงเอกสารซึ่งแสดงรายการว่าต้องตัดแยกพลังงานใดบ้างและตัดแยกที่อุปกรณ์ใดเช่น เบรกเกอร์ทางไฟฟ้า วาล์วทางกล
 
ขั้นตอนที่สาม ยื่นเอกสารขออนุญาตทำงานกับเจ้าของหน่วยงาน Permit to Work เจ้าของหน่วยงานหรือเจ้าของพื้นที่
เจ้าของหน่วยงานหรือเจ้าของพื้นที่ หมายถึงพนักงานบังคับบัญชาระดับต้น (front line leader) ประจำพื้นที่นั้นซึ่งผู้อนุญาตดังกล่าวนี้ต้องผ่านการฝึกอบรม (qualified person) ไม่เช่นนั้นกระบวนการ permit to work ก็จะขาดคุณภาพ เนื่องจากเอกสารอาจลงนามโดยผู้ที่ขาดความรู้ ความสามารถ 
เอกสารที่หัวหน้ากลุ่มงาน job leader ต้องยื่นขออนุญาตทำงานมีทั้งหมดสามฉบับคือ หนึ่งใบขออนุญาตทำงาน permit to work ซึ่งถือว่าเป็นใบหลัก สองคู่มือคำแนะนำหรือใบตรวจสอบ work instruction or checklist และสามใบรายการตัดแยกพลังงานและล็อค-เอาท์ระบบ (ถ้ามีการตัดแยกพลังงาน) 
 
เจ้าของหน่วยงานหรือเจ้าของพื้นที่ area owner จะพิจารณาจากสองเงื่อนไข ก่อนลงนามอนุญาต 
 
  • เอกสารที่ยื่นขออนุญาตทำงานครบหรือไม่
  • หากครบ เอกสารได้คุณภาพหรือไม่  
หากเอกสารครบและได้คุณภาพเจ้าของหน่วยงานก็จะลงนามอนุญาต หากว่ามีข้อแนะนำเกี่ยวกับมาตรการป้องกันควบคุมอุบัติเหตุที่สำคัญๆ ก็สามารถเขียนให้คำแนะนำลงในลำดับนี้ได้ hazards identified and additional control methods by area owner 
 
ขั้นตอนที่สี่ หัวหน้ากลุ่มงาน Job Leader ลงนามในใบขออนุญาตทำงานเพื่อแสดงว่ารับทราบว่าถูกอนุญาตให้ทำงานในขอบเขต ตามที่ระบุในเอกสารได้
ขั้นตอนที่ห้า หัวหน้ากลุ่มงาน Job Leader ประสานช่างเทคนิคประจำพื้นที่เพื่อตัดแยกพลังงานและล็อค-เอาท์ระบบ และต้องไม่ลืมว่าการทำงานในลำดับนี้ต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจนและแม่นยำ
 
  • ประสานช่างเทคนิคประจำพื้นที่เพื่อทำสำรวจจุดตัดแยกพลังงานและทำสำรวจการปิดกั้นควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงาน
  • หัวหน้ากลุ่มงานร่วมกับช่างเทคนิคประจำพื้นที่ (job leader-authorized isolator) ร่วมกันจัดทำใบรายการตัดแยกพลังงานและล็อค-เอาท์ระบบ
  • นำใบรายการตัดแยกพลังงานและตัดแยกระบบไปที่หน้างาน ช่างเทคนิคตัดแยกพลังงานและหัวหน้ากลุ่มงานล็อคอุปกรณ์ตัดแยกพลังงานด้วยกุญแจสี equipment padlock
  • ร่วมทดสอบว่าระบบตาย หากระบบตายก็สามารถทำงานขั้นตอนต่อไปได้ ในทางตรงข้ามหากระบบไม่ตายให้หยุดการทำงาน หัวหน้ากลุ่มงานเขียนใบรายงานอุบัติการณ์ incident investigation report และการตัดสินใจหลังจากรายงานอุบัติการณ์ ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้จัดการต้นสังกัด
  • ปิดกั้นควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงาน  
ขั้นตอนที่หก ประชุมกลุ่มก่อนเริ่มงาน ๕-๑๐ นาที Crew Briefed or Tool Box Meeting) หัวหน้ากลุ่มงานเป็นผู้นำการประชุม ซึ่งการพูดคุยจะแบ่งเป็นสามส่วนคือ หนึ่งสรุปขอบเขตและขั้นตอนหลักๆ ของงานที่จะทำ สองอันตรายที่อาจเกิดและสามมาตรการควบคุมอันตราย ต้องไม่ลืมว่าการประชุมต้องให้ทีมมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะหรือสอบถามได้
ขั้นตอนที่เจ็ด ผู้ปฏิบัติงานลงชื่อเข้าทำงานและแขวนกุญแจส่วนบุคล Personal Padlock ที่สถานีควบคุมการทำงาน
 
 
 
บอร์ดควบคุมสถานีการทำงาน 
 
ลักษณะบอร์ดสถานีควบคุมการทำงาน หมายเลขหนึ่ง คลิ๊บใบขออนุญาตทำงานและคู่มือคำแนะนำ หมายเลขสอง คลิ๊บใบรายการตัดแยกพลังงานและล็อค-เอาท์ระบบ หมายเลขสาม กล่องโปร่งใสทรงสี่เหลี่ยมแบนสำหรับเก็บลูกกุญแจ equipment padlock และหมายเลขสี่คือเหล็กบาร์สำหรับล็อคกล่องซึ่งจะถูกล็อคด้วยกุญแจสีสองชนิดคือ 
  • กุญแจสีหัวหน้ากลุ่มงาน สีเขียว job leader padlock
  • กุญแจสีผู้ปฏิบัติงาน สีแดง personal padlock  
 
การใช้บอร์ดควบคุมสถานีการทำงาน 
 
ลำดับที่หนึ่ง หลังจากตัดแยกพลังงานและล็อคเอาท์ระบบเรียบร้อยแล้ว หัวหน้ากลุ่มงาน job leader นำใบขออนุญาตทำงานและเอกสารคู่มือคำแนะนำคลิ๊บไว้ที่ หมายเลขหนึ่ง (ดูแบบฟอร์มใบขออนุญาตทำงานประกอบการอ่าน) ใบรายการตัดแยกพลังงานและล็อค-เอาท์ระบบคลิ๊บไว้ที่หมายเลขสอง และนำลูกกุญแจสี equipment padlock มาไว้ในกล่องหมายเลขสาม
ลำดับที่สอง กล่องหมายเลขสาม ที่บาร์ล็อคกุญแจสีหมายเลขสี่ หัวหน้ากลุ่มงานล็อคกุญแจสี job leader padlock และผู้ปฏิบัติงานล็อคกุญแจสี personal padlock ของตัวเอง ซึ่งการทำดังกล่าวนี้ ลูกกุญแจ equipment padlock ซึ่งอยู่ในกล่องไม่สามารถนำออกมาได้ เมื่อลูกกุญแจฯ นำออกมาไม่ได้ก็ไม่สามารถเปิดคืนระบบของเครื่องจักรที่ล็อคไว้ได้ จะคงสภาพให้เครื่องจักรตาย จนกว่าผู้ปฏิบัติงานจะทำงานแล้วเสร็จ
ลำดับที่สาม หลังจากผู้ปฏิบัติงานแขวนและล็อคกุญแจสีของตนเองแล้วเสร็จ ก็ให้ลงชื่อเข้าทำงานในขั้นตอนที่เจ็ดของแบบฟอร์มขออนุญาตทำงานและนับจากนี้ถือว่าเป็นการเปิดงาน สามารถเข้าทำงานในขอบเขตที่ขออนุญาตไว้ได้
 
 

(อ่านต่อ ๖.๒ คลิ๊กตรงนี้ หรือคลิ๊กตามลิงค์ด้านล่าง)

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่หนึ่ง (๑.๑) ที่สูง ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานบนที่สูง : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่หนึ่ง (๑.๒) ที่สูง ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานบนที่สูง : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่สอง อุปกรณ์ป้องกันการตกระบบสายรั้งและงานเชือกโรยตัว : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่สาม อุปกรณ์ลดความรุนแรงจากการตก : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่สี่ ม้ายืน บันไดและความปลอดภัยการใช้งาน : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่ห้า การควบคุมของตกและวิธีปิดกั้นควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงาน : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่หก (๖.๒) องค์ประกอบความปลอดภัยงานที่สูง และกฎหมาย : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่เจ็ด กระเช้ายกคนด้วยรถเคน HOLD รอ-กำลังพัฒนา : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่ รถกระเช้าและการใช้รถกระเช้าอย่างปลอดภัย : คลิ๊กตรงนี้ 
 
ไปยังเมนู หลักสูตรที่ฝึกอบรมและสัมมนา คลิ๊กตรงนี้
  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 1 คน
 สถิติเมื่อวาน 103 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2871 คน
24202 คน
906254 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong