Sangtakieng.com
ท่องไชยาทางโลก
รวบรวม เรียบเรียง : รณรงค์ แสงตะเกียง

อำเภอไชยาเดิมมีฐานะเป็นเมืองเรียกว่าเมืองไชยา ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในจำนวนสามเมืองในอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์กลางการปกครองและศูนย์กลางการค้าขายกับต่างประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ศาสนา แต่ต่อมาปี พศ. ๑๕๖๘ ได้ถูกอาณาจักรจากภาคใต้ของอินเดียเข้ายึดอำนาจไว้ได้ ทว่าก็เป็นไปชั่วคราวเท่านั้นก็สามารถรวมคนตั้งตัวได้อีก และได้ทำการรบพุ่งชิงความเป็นใหญ่เพื่อชิงเกาะสุมาตราและแหลมมาลายูกับอาณาจักรมัชปาหิต (ชวา) จนอ่อนกำลังทั้งคู่ จึงถูกอาณาจักรสุโขทัยตีได้ และเข้าครอบครองไว้ทั้งหมดในปี พศ. ๑๘๐๐ ดังนั้นเมืองไชยาซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยก็ตกเป็นขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรสุโขทัยแต่บัดนั้น

     

ที่ว่าการอำเภอเมืองไชยา ครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสด็จและมีรับสั่งให้พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ให้ช่วยสืบหานามตำแหน่งเจ้าเมืองไชยาและนามเดิมตั้งแต่คนแรกตลอดมา

ประวัติศาสตร์เมืองไชยาระยะต่อจากนั้นก็เงียบหายไปจนกระทั่งปี พศ. ๒๓๒๘ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พม่ายกกองทัพซึ่งคนไทยรู้จักกันดีในชื่อสงครามเก้าทัพ บุกเข้าตีเมืองชุมพรแล้วตีเรื่อยจนถึงเมืองไชยา พร้อมกับเผาเมืองเสียจนถาวรวัตถุเป็นซากปรักหักพังเหลือไว้เป็นอนุสรณ์
เดิมอำเภอท่าฉางและอำเภอท่าชนะเคยรวมอยู่เป็นอำเภอเดียวกันกับอำเภอไชยา ต่อมาอำเภอท่าฉางแยกออกเป็นกิ่งอำเภอท่าฉาง และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอท่าฉางเมื่อ พศ. ๒๔๘๒ สำหรับอำเภอท่าชนะแยกออกเป็นกิ่งอำเภอท่าชนะเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พศ. ๒๔๙๑ และต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอท่าชนะ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พศ. ๒๔๙๙
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พศ. ๒๔๙๐ ทางราชการได้จัดตั้งศาลจังหวัดและเรือนจำขึ้นที่อำเภอไชยา และเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พศ. ๒๔๙๖ อำเภอไชยาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอชั้นเอก
ปัจจุบันอำเภอไชยาแบ่งการปกครองออกเป็น ๙ ตำบล ๕๓ หมู่บ้าน มีการปกครองส่วนท้องถิ่นสองหน่วยคือเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล

พระบรมธาตุคู่เมือง รุ่งเรืองพุทธศาสน์ พุทธทาสปราชญ์โลก สวนโมกขพลาราม ลือนามศรีวิชัย ผ้าไหมพุมเรียง ทะเลเคียงหาดทราย แหล่งซื้อขายไข่เค็ม

รายนามเจ้าเมืองไชยา
ตามจดหมายเหตุของหมื่นอารีราษฎร์ (วิน สาลี) บันทึกไว้ว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้มีรับสั่งให้พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ให้ช่วยสืบหานามตำแหน่งเจ้าเมืองไชยาและนามเดิมตั้งแต่คนแรกตลอดมา จึงได้จัดการสืบหาได้ตามคำบอกเล่าของขุนนาคเวชวีรชน (จบ นาคเวช) อดีตกำนันตำบลทุ่ง และพระยาศรีสงคราม (ช่วย) ปลัดเมืองไชยานอกราชการ ดังนี้
  • qมะระหุมปะแก
  • qมะระหุมตาไฟ
  • qมะระหุมมุดา
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (บุญชู)
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (บุญชู)
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (พุทโธ)
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (หัวสั่น)
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (มี)
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (ท้วม)
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (ปลอด)
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (กลิ่น)
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (กลับ)
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (จุ้ย) 
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (น้อย)
  • qพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (ขำ ศรียาภัย)
  • qนายพินิจราชการ (ปิ้ว)
  • qหลวงวิเศษภักดี (อวบ)

ลักษณะภูมิประเทศ
ท้องที่อำเภอไชยาแบ่งออกเป็นสามตอน คือทางทิศตะวันออกซึ่งติดกับทะเลเป็นที่ราบน้ำเค็ม มีป่าไม้ชายเลน ไม้เบญจพรรณและทุ่งหญ้าที่ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ ตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม เดิมมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีแต่ปัจจุบันน้ำจะแห้งในระหว่างเดือนห้าและเดือนหก ทางทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูง ประกอบด้วยภูเขาและป่าไม้ พื้นที่ตอนนี้เป็นสวนยางและสวนผลไม้ยืนต้นทั่วไป

โบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยว-เนื่องจากไชยาเป็นเมืองเก่าแก่ ดังนั้นจึงมีสถานที่โบราณและสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอยู่หลายแห่ง
วัดเวียง ตั้งอยู่ตำบลตลาดไชยา บริเวณเคยเป็นเมืองเก่า เชื่อกันว่าเดิมเป็นวังของกษัตริย์ศรีวิชัย สร้างเมื่อ พศ. ๑๗๒๖
บ่อน้ำพุร้อน อยู่ที่ตำบลเลม็ด ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๒ กิโลเมตร ตรงเชิงเขาบ่อร้อนและน้ำพุร้อนผุดจาไต้ภูเขาตลอดเวลา อุณหภูมิประมาณ ๕๐ องศาเซลเซียส
ป่าไทรงาม อยู่ที่ตำบลเลม็ด มีต้นไทรขึ้นหนาแน่นดูจนคล้ายเป็นป่า มีแม่น้ำคลองไชยาตอนแยกไปคลองท่าปูนไหลผ่าน เป็นที่สวนที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน
บ่อน้ำมูรธาภิเษก อยู่ที่ตำบลทุ่ง เป็นบ่อน้ำที่ใช้ในพระราชพิธีมูรธาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร และพระบรมธาตุไชยา-วัดพระบรมธาตุไชยาฯ เป็นวัดที่มีความเก่าแก่ จากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ยังปรากฏ ทำให้ทราบว่านานหลายยุคสมัย และอาจรวมอยู่ในสิ่งที่ถูกทำลายโดยสงครามเก้าทัพกองทัพพม่าในสมัยรัชกาลที่ ๑ ด้วย ภายในบริเวณวัดยังมีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไชยา ซึ่งเป็นที่รวบรวมศิลปะโบราณวัตถุในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและในจังหวัดใกล้เคียง มีการจัดแสดงประติมากรรมศิลาและสำริดที่พบในบริเวณเมืองเก่าไชยา อาทิเทวรูปนารายณ์ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นต้น

ซ้าย : เทวรูปนารายณ์ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  ขวา : พระพุทธรูปเก่าแก่ภายในวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ ทั้งในบริเวณรอบๆ วัดและในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ทำให้ทราบว่าวัดพระบรมธาตุไชยาฯ นี้มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๒๐๐ ปี โดยพบศิลปะหลายสมัย อาทิ พระพุทธรูปศิลาปางสมาธิและประทับยืนลงรักปิดทอง ขนาดเท่าคนศิลปะในสมัยทวาราวดี ส่วนองค์พระบรมธาตุเป็นแบบสมัยศรีวิชัย และพบพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสมัยกรุงศรีอยุธยาขนาดโตกว่าคนและลำดับลงมาถึงขนาดเท่าคนและเล็กกว่า เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในยุคสมัยนั้น

แหล่งชุมชนโบราณไชยา นอกจากพระบรมธาตุอันยิ่งใหญ่แล้ว ยังค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญมากมายอาทิเช่น ขวานหินขัดจารึก เทวรูป โบสถ์พราหมณ์ พระพุทธรูปเสมาธรรมจักรหิน พระพิมพ์เจดีย์ ซากโบราณสถานอิฐ สถูปหิน เงินตรานโม คันฉ่อง สำริด เครื่องประดับหิน ลูกปัด เครื่องแก้ว โยนิโทรณะ สมอเรือ กลองมโหระทึกสำเริด ภาชนะเคลือบของจีน เครื่องถ้วยจีน เครื่องปั้นดินเผาแบบพื้นเมือง เครื่องใช้ในครัวเรือน เช่นหินบด แท่นหินบดและลูกกลิ้ง ฯลฯ เป็นต้น
หลักฐานที่สำคัญอีกส่วน ที่ทำให้ทราบว่าเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์คือพบขวานหินขัด กลองมโหระทึกสำริดและโบราณสถานที่กระจายอยู่ในบริเวณกว้าง ยังปรากฏว่าได้ติดต่อกับชุมชนภายนอกเช่น ชุมชนในดินแดนเขมร เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย อินเดียและอาหรับ
แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ พบหลักฐานเครื่องถ้วยชามจีน เครื่องแก้วอาหรับและลูกปัดแบบอินเดีย การติดต่อกับชุมชนภายนอกดังกล่าวนี้ทำให้ชุมชนไชยามีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับต่างแดน ลัทธิศาสนาที่เข้ามาได้แก่ศาสนาพุทธและฮินดู ซึ่งมีรูปเคารพศาสนสถานและเจดีย์ปรากฏ

พระบรมธาตุไชยา-พระบรมธาตุไชยา-ตั้งอยู่ที่วัดพระบรมธาตุฯ เขตตำบลเวียง ริมถนนใหญ่ทางเข้าอำเภอไชยา ห่างจากที่ตั้งอำเภอไชยา กิโลเมตร เป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสาริกธาตุแบบศรีวิชัย มีอายุประมาณ ๑๒๐๐ ปี องค์พระเจดีย์เป็นโบราณสถาน ที่สร้างขึ้นตามแบบลัทธิมหายาน ตั้งแต่ครั้งอาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรือง รอบองค์พระธาตุมีเจดีย์เล็กๆ ๔ ทิศ ล้อมรอบด้วยวิหารคด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ขนาดต่างๆ โดยรอบทั้งสี่ด้าน พระธาตุไชยานับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธ ศาสนาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา-ตั้งอยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ตำบลเวียง เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประเภทประวัติศาสตร์และโบราณคดี อาคารหลังแรกด้านหน้าจัดแสดงประติมากรรมศิลา และสำริดที่ค้นพบในเมืองไชยาเก่า ได้แก่เทวรูปพระนารายณ์ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ส่วนอาคารที่สอง เป็นที่จัดแสดงหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา นอกจากนี้ยังจัดแสดงงานประณีตศิลป์ต่างๆ อีกมากมาย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา เปิดบริการตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ ถึง ๑๖.๐๐ นาฬิกา ปิดวันจันทร์ วันอังคาร
การเดินทางจากตัวเมืองสุราษฎร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๑ ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร เลี้ยวขวาบริเวณ กิโลเมตรที่ ๑๓๔ จะถึงสวนโมกขพลาราม และไปเลี้ยวขวาตรงสี่แยกโมถ่ายและตรงไปจนถึงวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร สำหรับรถโดยสารประจำทาง ที่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวได้แก่ รถโดยสารสายสุราษฎร์ธานี-ระนอง และสุราษฎร์ธานี-ชุมพร นอกจากนี้ยังมีรถแท็กซี่บริการในเส้นทางสุราษฎร์ธานี-ไชยา อีกด้วย

ซ้าย : พระบรมธาตุไชยา  ขวา : ประตูไม่แกะสลักและเทวรูป ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไชยา

           วัดรัตนารามหรือวัดแก้ว ตั้งอยู่ที่บ้านวัดแก้ว ตำบลเสม็ด

วัดรัตนารามหรือวัดแก้ว-วัดรัตนารามหรือวัดแก้ว ตั้งอยู่ที่บ้านวัดแก้ว ตำบลเสม็ด มีเนื้อที่ ๑๒ ไร่เศษ วัดแก้วเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าเจดีย์วัดแก้วสร้างร่วมสมัยกับเจดีย์วัดพระบรมธาตุไชยาคือประมาณระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ถึง ๑๕ มีโบราณสถานที่สำคัญเรียกว่าเจดีย์วัดแก้ว เป็นโบราณสถานสถาปัตยกรรมศรีวิชัย สร้างราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ถึง ๑๕ ลักษณะของเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบก่ออิฐไม่ถือปูน ฐานล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขสี่ด้าน ระหว่างมุขทำเป็นย่อมุมไม้สิบสอง ซุ้มด้านทิศตะวันออก มีทางเดินไปห้องกลางขององค์เจดีย์ ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ทุกซุ้ม กองโบราณคดีกรมศิลปากรได้ขุดแต่งบูรณะในปี พศ. ๒๕๑๙ ถึง ๒๕๒๒

หมู่บ้านพุมเรียงและแหลมโพธิ์-หมู่บ้านพุมเรียงและแหลมโพธิ์อยู่ตำบลพุมเรียง ห่างจากตัวอำเภอ ๖ กิโลเมตร ผ้าไหมพุมเรียงเป็นผ้าไหมยกดิ้นเงินหรือดิ้นทองสวยงาม เป็นสินค้าพื้นเมืองที่มีชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เลยจากหมู่บ้านไป ๒ กิโลเมตร ตามเส้นทางพุมเรียง-ชายทะเล จะถึงแหลมโพธิ์ชายทะเลที่น่าเที่ยวแห่งหนึ่งของตำบลพุมเรียง หาดแหลมโพธิ์ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ตอนยกทัพมาปราบพระยานคร และเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 ตอนเสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้ การเดินทางจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีใช้บริการรถโดยสารในเส้นทาง สายสุราษฎร์-ระนอง หรือสุราษฎร์ธานี-ชุมพร จากตัวเมืองไชยาใช้บริการรถ โดยสารประจำทางสายไชยา-พุมเรียง

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
กลับยังเมนูหลัก ท่องไชยาทางโลก-ท่องสวนโมกข์ทางธรรม : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ศิลปป้องกันตัวแบบฉบับมวยไชยา : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ท่องสวนโมกข์ทางธรรม : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู เด็กชายเงื่อม พานิชและเส้นทางสู่ธรรมสาวกของพุทธทาสภิกขุ : อ่านต่อคลิ๊กตรงนี้

 

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 99 คน
 สถิติเมื่อวาน 109 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
1254 คน
57439 คน
939491 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong